บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 5 "ส้มโอไทยในประเทศจีน"

บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 5 "ส้มโอไทยในประเทศจีน"

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 487 view

ในปัจจุบันผลไม้ไทยเป็นที่นิยมในตลาดจีนเป็นอย่างมาก โดยในแต่ละปีจีนนำเข้าผลไม้จากไทยมากเป็นอันดับ 1 จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถึงกระนั้นผลไม้ไทยที่สามารถเข้าถึงตลาดจีนได้มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด กล้วย มะพร้าว มะม่วง ขนุน เป็นต้น ขณะที่ในความเป็นจริงผลไม้ไทยได้รับการอนุญาตจากจีนให้นำเข้าได้มีอยู่ถึง 22 ชนิด ได้แก่ มะขาม ส้มเขียวหวาน น้อยหน่า ส้ม ส้มโอ มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ชมพู่ ขนุน ลองกอง สับปะรด ละมุด กล้วยหอม เสาวรส มะพร้าว ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ และมังคุด ดังนั้นโอกาสสำหรับไทยในตลาดผลไม้จีนยังมีอีกมาก เนื่องจากไทยยังมีผลไม้อีกหลากหลายชนิดที่น่าสนใจและมีศักยภาพเป็นเลิศ จึงควรได้รับการส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักของชาวจีนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

 ส้มโอ เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่น่าจับตามองในการ ครองใจคนจีน จากสถิติพบว่าจีนนำเข้าส้มโอในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ภายในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จากปี พ.ศ. 2553 พบว่าจีนนำเข้าส้มโอมูลค่า 7.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น 30.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2557 โดยคิดเป็นส้มโอเนื้อแดงจากแอฟริกาใต้ถึงร้อยละ 60 รองลงมาเป็นส้มโอจากไทยร้อยละ 21 และส้มโอจากไต้หวันร้อยละ 11

ผลไม้ที่อุดมไปด้วยประโยชน์อย่างส้มโอนี้ ชาวจีนรู้จักคุ้นเคยเป็นระยะเวลานานแล้ว ด้วยสรรพคุณทางยาและมีวิตามินซีสูง นอกจากนี้สาว ๆ ชาวจีนยังนิยมรับประทานเพื่อการควบคุมน้ำหนักอีกด้วย สำหรับแหล่งปลูกส้มโอในจีนนั้นมักอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ อาทิ ฝูเจี้ยน เจียงซี หูหนาน กว่างซี กวางตุ้ง เจ้อเจียง และเสฉวน โดยจะปรากฏส้มโอหลากหลายพันธุ์ทั้งเนื้อสีขาวครีมและเนื้อสีแดงทับทิม อย่างไรก็ตามพันธุ์ที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อสีขาวครีม ส่วนส้มโอจีนที่มีชื่อเสียงนั้น ได้แก่ ส้มโอเหวินต้านจากฝูเจี้ยน ส้มโอซาเถียนจากเขตกว่างซี และส้มโอจินหลานจากมณฑลกวางตุ้ง

สำหรับส้มโอไทยเองก็มีรสชาติที่ดีไม่แพ้ชาติใดในโลก ชาวจีนยกย่องให้ส้มโอไทยเป็นหนึ่งในสี่ส้มโอที่มีชื่อเสียงระดับโลก (ส้มโอเหวินตานและส้มโอผิงซานของมณฑลฝูเจี้ยน ส้มโอซาเถียนของกว่างซี และส้มโอไทย) และชื่นชอบส้มโอไทยมาก เนื่องจากเนื้อส้มโอไทยมีความใสแวววาว เกร็ดส้มใหญ่ น้ำฉ่ำและหวาน อีกทั้งยัง    ปอกง่ายกว่าส้มโอจีน ชาวจีนนั้นนิยมรับประทานส้มโอเป็นผลไม้สด แต่เมื่อร้านอาหารไทยในจีนนำส้มโอมาทำเป็นของคาวเสิร์ฟในเมนู “ยำส้มโอ” ก็ได้รับความนิยมเกินความคาดหวังตีคู่มากับแชมป์เก่าอย่าง “ส้มตำ” และได้รับคำยกย่องจากชาวจีนว่าเป็นการดัดแปลงผลไม้ไทยให้กลายเป็นของคาวหวานขึ้นโต๊ะอาหารได้อย่างลงตัว  งรวมไปถึง “ข้าวเหนียวมะม่วง” ที่เป็นของหวานที่คนจีนโปรดปรานและนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ในเมนูอาหารไทย

นอกจากเนื้อส้มโอจะมีรสชาติอร่อยและมีวิตามินแล้ว เปลือกของส้มโอยังใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ใช้เปลือกสุ่มไฟให้มีกลิ่นหอมเพื่อไล่แมลง นำมาแปรรูปเป็นเปลือกส้มโอเชื่อม และส้มโออบแห้งรับประทานเพื่อแก้อาการวิงเวียน นอกจากนี้ชาวจีนยังใช้เปลือกส้มโอนำไปตากแห้งแล้วเอามาต้มเพื่อแก้โรคปอดอักเสบ   ในเด็กและรักษาโรคแผลผิวหนังที่เกิดจากความเย็นจัด จึงเป็นยาแผนโบราณของจีนที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าส้มโอนั้นมีความเกี่ยวพันกับประเพณีจีน โดยถือว่าส้มโอเป็นราชาแห่งผลไม้ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ เนื่องจากคำว่าส้มโอในภาษาจีนอ่านว่า “อิ้ว” ซึ่งพ้องเสียงกับคำภาษาจีนที่แปลว่า “คุ้มครอง” และด้วยรูปทรงกลม ก็ไปพ้องกับภาษาจีนที่แปลว่า “อยู่พร้อมหน้า” ด้วยเหตุนี้เองส้มโอ    จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความอยู่พร้อมหน้า” และ “ความเป็นสิริมงคล” ในพิธีไหว้พระจันทร์ อีกทั้งเมื่อนำมาทานคู่กับขนมไหว้พระจันทร์รสชาติจะเข้ากันได้ดีและคล่องคอมากยิ่งขึ้น

ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง หรือช่วงเดือน ต.ค.- พ.ย. ของทุกปี เป็นช่วงที่ส้มโอจีนออกสู่ตลาดมากที่สุด ในขณะที่ความต้องการส้มโอสำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ของจีนมักตรงกับเดือน ส.ค. หรือ ก.ย. ซึ่งเหมาะกับส้มโอไทยที่ออกสู่ตลาดพอดี จึงเป็นโอกาสที่ดีของส้มโอไทยในจีน ยิ่งถ้าส้มโอไทยมีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยเข้ากับเทศกาลมหามงคลของจีนด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ส้มโอไทยได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นไปอีก   

ในปี พ.ศ. 2558 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 6 ล้านคน เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย    ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนสวรรค์ของคนรักผลไม้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในการนำเสนอผลไม้ไทย รวมถึงการพัฒนาสินค้าแปรรูปจากส้มโอให้เป็นอาหารว่าง ขนมและของขบเคี้ยว หรือสินค้าแปรรูปจากส้มโอ เป็นต้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนได้ชิมและซื้อกลับไปเป็นของฝากให้แก่พี่น้องและญาติสนิท   ในประเทศจีน รวมทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ในลักษณะปากต่อปากให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาประเทศไทยต่อไป