คำแนะนำสำหรับคนไทยที่มาทำงาน

คำแนะนำสำหรับคนไทยที่มาทำงาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,272 view

คำแนะนำสำหรับคนไทยที่มาทำงานในมณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลหูหนาน

เพื่อประโยชน์ของคนไทย ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ และการปฏิบัติที่ไม่สมควรต่อคนไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง จึงขอแจ้งเตือนและแนะนำคนไทยที่ทำงานหรือประสงค์จะมาทำงานในมณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลหูหนาน ดังนี้

การเตรียมการก่อนเดินทางมาทำงาน

  • ตรวจสอบความน่าเชื่อถือและข้อมูลเกี่ยวกับนายหน้า นายจ้าง และสถานที่ทำงานของท่านก่อนเดินทางมาจีน และอย่าหลงเชื่อบุคคลหรือข้อมูลใด ๆ หากไม่แน่ใจ ขอให้สอบถามหน่วยงานราชการ เช่น กรมการจัดหางาน ก่อนเดินทางหรือตกลงใด ๆ

  • ควรติดต่อ ลงทะเบียน และปฏิบัติตามกระบวนการของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน (ไทย) ก่อนเดินทางมาทำงานในต่างประเทศ

วีซ่าจีน

  • วีซ่าจีนของท่านจะต้องถูกประเภท (คือ วีซ่าทำงาน) โดยยื่นขอให้ถูกต้องเรียบร้อยก่อนเดินทางมาจีน (และมาขอเปลี่ยนเป็นการอนุญาตพำนัก (Permit) ที่ถูกต้องเมื่อเดินทางมาถึงจีน ภายในเวลาที่กำหนด) การอยู่อาศัยและทำงานโดยไม่มีเอกสารหลักฐาน ที่ถูกต้อง มีอายุ และถูกประเภท เป็นความผิดตามกฎหมายจีน ซึ่งอาจมีทั้งโทษปรับ ควบคุมกักขัง และผลักดันออกนอกประเทศ

  • กฎหมายจีนไม่อนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าจีนประเภทอื่น ๆ เช่น วีซ่าคู่สมรส วีซ่านักเรียน ทำงานที่มีค่าจ้างหรือรายได้ประจำ หากต้องการทำงานจะต้องเปลี่ยนประเภทวีซ่าให้ถูกต้อง

  • หากวีซ่าหมดอายุหรือมีปัญหาอื่น ๆ ให้ติดต่อสำนักงานงานตรวจคนเข้าและออกเมือง (จีน) ในท้องถิ่นโดยเร็ว

สัญญาจ้างและเงื่อนไขการทำงาน

  • กฎหมายจีนกำหนดว่า การทำงานจะต้องมีสัญญาจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันและลงนามร่วมกันทั้งสองฝ่าย โดยสัญญาจ้างต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจน เป็นธรรม และเหมาะสม เช่น ระยะเวลาการจ้าง ค่าจ้าง กำหนดจ่ายค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ต่างๆ และการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด (โดยลูกจ้างควรมีสิทธิ์ขอยกเลิกสัญญาได้)

  • เก็บสัญญาจ้างไว้ที่ตนเอง 1 ชุด และหากทำสัญญาหรือแปลเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษ ไว้ด้วย (ให้เนื้อหาตรงกับภาษาจีน) ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวท่านเอง ทั้งนี้ การทำงานโดยไม่มีสัญญาจ้างที่เป็นปัจจุบันและชัดเจน ย่อมเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหากับนายจ้างในภายหลัง

  • ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และมาตรการของทางการท้องถิ่น หากมีการเปลี่ยนแปลง ใด ๆ เช่น จะย้ายที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย ควรศึกษาและปฏิบัติตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนถูกต้องก่อน หากไม่ทราบหรือไม่แน่ใจ ควรสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการใด ๆ

หนังสือเดินทางไทย (พาสปอร์ต)

  • หนังสือเดินทาง เป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย ซึ่งออกให้คนไทยใช้เดินทางและแสดงตน ในต่างประเทศ บุคคลอื่น (รวมทั้งนายจ้างและนายหน้า) ไม่มีสิทธิ์ยึด หรือครอบครองหนังสือเดินทางของคนไทยไว้ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งนี้ การยึดหนังสือเดินทางเป็นความผิดตามกฎหมายทั้งของไทยและจีน

  • การยึดหนังสือเดินทาง ไม่ใช่วิธีการควบคุม บังคับ หรือต่อรองกับลูกจ้าง ที่นายจ้างพึงกระทำ หากท่านถูกยึดหนังสือเดินทาง สามารถขอความช่วยเหลือจากตำรวจท้องที่ได้

  • เก็บหนังสือเดินทางไว้กับตนเอง หากสูญหาย หรือชำรุด ขอให้ติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ โดยเร็ว

สวัสดิภาพและความปลอดภัย

  • เมื่อเดินทางมาถึงจีน หรือย้ายเข้ามาจากพื้นที่อื่นของจีน ควรแสดงตนและลงทะเบียน คนไทยกับสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสารและขอความช่วยเหลือต่าง ๆ

  • ควรทราบวิธีการและสถานที่ขอรับบริการจากหน่วยงานท้องถิ่นของจีนในกรณีต่างๆ เช่น เจ็บป่วย หรือเหตุฉุกเฉิน และสามารถติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีจำเป็นเร่งด่วนด้วย

  • เก็บเอกสารสำคัญอื่น ๆ ของท่าน เช่น เอกสารที่ทางราชการออกให้ วุฒิการศึกษา ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ฯลฯ ไว้กับตนเอง (เช่นเดียวกับหนังสือเดินทาง การยึดเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไม่ใช่วิธีการควบคุม บังคับ หรือต่อรองกับลูกจ้าง ที่นายจ้างพึงกระทำ)

  • ดูแลเอกสารสำคัญและบัญชีต่าง ๆ ของท่าน (เช่น บัตร ATM โทรศัพท์มือถือ และช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่น วีแชท) ให้มีความปลอดภัย พร้อมใช้งาน รู้จักวิธีการใช้ และควบคุมได้เองอยู่เสมอ ทั้งนี้ การใช้บริการต่าง ๆ เช่น ซิม/เบอร์โทรศัพท์ และ การเปิดบัญชีธนาคาร (กับธนาคารที่ยินยอมเปิดบัญชีให้คนต่างชาติ) เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ผู้อื่นไม่สามารถขัดขวางได้

  • หากมีการกระทำผิดกฎหมายต่อท่าน เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกบังคับข่มขู่ ฯลฯ ให้รีบแจ้งตำรวจท้องที่ และสถานกงสุลใหญ่ฯ โดยเร็วที่สุด

  • ในกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ ให้ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งตำรวจท้องที่เพื่อดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง 
โทร. (0871) 6314 9296 (ในวันและเวลาทำการ)
อีเมล: [email protected]
ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน (เฉพาะคนไทยเท่านั้น) โทร. 155 8700 3732 

เอกสารประกอบ

PR_ประกาศแจ้งเตือนแรงงานไทย_040165