บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 11 "ขนมขบเคี้ยวและขนมทานเล่นไทย"

บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 11 "ขนมขบเคี้ยวและขนมทานเล่นไทย"

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 737 view

สินค้าไทยที่มีศักยภาพจริงและได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าผู้บริโภคนิยมชมชอบ จากการได้เข้าร่วมงานเทศกาลไทยของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นั้นคือ ขนมขบเคี้ยวหรือขนมทานเล่นไทย ที่ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่ขายได้ง่าย เนื่องจากซื้อง่าย ขายคล่อง และมีกำไรในสัดส่วนที่สูง ตลอดจนถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบด้านการเกษตรไม่ว่าจะเป็น แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว และแป้งชนิดอื่นๆ รวมถึงผลไม้ชนิดต่างๆ ของไทย

ตลาดผู้บริโภคชาวจีนที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งได้แก่ คนในวัยทำงาน มีรสนิยมนิยมของต่างประเทศ และวิถีชีวิตทันสมัย มิได้เชยหรือล้าสมัยเป็นภาพสมัยประธานเหมาเจ๋อตุงอย่างที่เข้าใจกันอีกต่อไปแล้ว แต่ชอบรับประทานอาหารอร่อยนอกบ้านและขนมที่อร่อยด้วย ดังนั้น ตลาดขนมขบเคี้ยวจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสามารถเห็นได้จากตามสำนักงานหรือห้องนั่งเล่นในบ้านก็ต้องมีขนมขบเคี้ยวชนิดต่างๆ ไว้เพื่อรับประทานเองหรือใช้รับรองแขก ซึ่งในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน ซึ่งในปีนี้เป็นช่วงระหว่างวันที่
17-23 กุมภาพันธ์ 2558 ก็ยิ่งต้องมีอาหาร ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มไว้ฉลองกันอย่างเต็มที่ ดังนั้นแนวโน้มและกระแสนิยมขนมขบเคี้ยวจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม

ตัวอย่างขนมขบเคี้ยวแบบดั้งเดิมของไทย ได้แก่ ข้าวแต๋น ข้าวตังทรงเครื่อง สายไหม ตังเม กะละแม เผือกทอด กล้วยฉาบ กล้วยเบรกแตก ทุเรียนกวน คุกกี้มะพร้าว ทุเรียนอบกรอบหรืออบแห้ง ผลไม้แห้ง งาตัดรสน้ำอ้อย ทองม้วน เป็นต้น ก็ล้วนแต่เป็นสินค้าที่ขายได้ในประเทศจีน เพียงแต่มีเงื่อนไขเดียว คือ จะต้องไม่มีรสหวานเกินไป (รสหวานเล็กน้อย) ก็จะถูกกับจริตผู้บริโภคชาวจีน

นอกจากนี้ขนมขบเคี้ยวยุคใหม่ ได้แก่ สาหร่ายอบกรอบยี่ห้อต่างๆ ถั่วลิสงอบกรอบรสต่างๆ (ไม่ว่าจะเป็นวาซาบิ หรือเคลือบคาราเมล ก็เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน) ปลาเส้นปรุงรส มันฝรั่งอบกรอบ ก็เป็นที่ถูกใจและถูกปากผู้บริโภคชาวจีนที่ได้เคยลิ้มลองแล้ว

เมื่อกล่าวถึงขนมไทยทานเล่นทั้งหมดนี้ เป็นเพียงขนมไทยทานเล่นแบบพื้นๆ ที่คนไทยรู้จักกันดี หากลองนึกถึงขนมไทยโบราณตำรับชาววัง อาทิเช่น ขนมจ่ามงกุฎ ขนมกลีบลำดวน ทองเอก เป็นต้น ซึ่งคนไทยล้วนแล้วแต่ยอมรับว่า ขนมไทยตำรับชาววังเหล่านี้มีความประณีต วิจิตรและบรรจงในทุกขั้นตอนการปรุง มีรสชาติหอมหวาน กลมกล่อม เป็นเอกลักษณ์ของขนมแต่ละชนิด แค่นี้ก็ถือเป็นโอกาสที่จะนำเสนอขนมหวาน ของทานเล่นแบบไทยๆ ให้ผู้บริโภคชาวจีนได้ลิ้มรส จะช่วยสร้างโอกาสในการขายสินค้าไทยได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย เพียงแต่ต้องอย่าลืมว่าต้องลดระดับความหวานของขนมไทยให้ถูกจริตกับผู้บริโภคชาวจีน แต่ต่อไปเมื่อผู้บริโภคชาวจีนติดใจในรสชาติตลอดจนความหอมของขนมไทยแล้ว ขนมหวานไทยตำรับชาววัง สูตรความหวานดั้งเดิมที่มีความหวาน ความหอมละมุนสูตรเข้มข้น ก็น่าจะเป็นสินค้าไทยอีกชนิดหนึ่งที่จะขายได้เช่นกัน

ขนมทานเล่นของไทยชนิดต่างๆ ข้างต้นนี้จะต้องมีกลิ่นหอม มีสีสันสวยงามด้วยวัตถุดิบตามธรรมชาติซึ่งสามารถใช้เป็นจุดขายได้ ทำให้ขนมแต่ละอย่างมีรูปร่างหน้าตาน่ารับประทาน และใส่ไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่มองเห็นผลิตภัณฑ์ภายในได้อย่างชัดเจน เพราะผู้บริโภคชาวจีนกลัวถูกหลอกและกลัวสินค้าไม่มีคุณภาพ ดังนั้น บรรจุภัณฑ์ที่ทำให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าภายในได้ชัดเจนก็เป็นการตอบโจทย์ครบองค์ประกอบที่ผู้บริโภคชาวจีนต้องการ คือ เชื่อใจ มั่นใจ และยอมจ่านเงินซื้อ

ขนมทานเล่นของไทยก็ต้องนำเสนอด้วยการให้ทดลองชิม ผู้บริโภคได้ดมกลิ่น ลิ้มรส จึงถือเป็นเทคนิคสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ขายขนมทานเล่นแบบไทยๆ ได้ เนื่องจากขนมไทยบางชนิดผู้บริโภคชาวจีน ไม่มั่นใจว่าจะอร่อยหรือไม่ กรอบดีไหม รสหวานเกินหรือไม่ ดังนั้นการได้ทดลองชิมลิ้มรสและดมกลิ่นจึงเป็นเทคนิคการขายที่สำคัญที่สุด

ขนมไทยทานเล่นที่ดูแสนธรรมดาของผู้บริโภคชาวไทย เช่น ถั่วลิสงอบกรอบหรือเคลือบกะทิรสต่างๆ เช่น รสกะทิ เป็นต้น ถือเป็นขนมที่ถือว่ามีความแปลกใหม่ และพ้นจากความจำเจของชาวจีนที่รู้จักบริโภคถั่วลิสงรสต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้น ถั่วลิสงจึงเป็นการนำเสนอสินค้าไทยที่มีความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภคชาวจีน และถือได้ว่าเป็นสินค้ายอดนิยมติดอันดับขายดีของสินค้าไทยชนิดหนึ่ง นอกจากนี้สินค้าไทยต้องใส่ใจกับการใช้วัตถุดิบที่ดีและมีคุณภาพมาก่อนเสมอ ด้วยการใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ อาทิเช่น ทองม้วนจะยังคงความกรอบอยู่ได้ก็ต้องบรรจุในภาชนะที่ปิดแน่นและก็ต้องมีสารกันความชื้นชนิดมาตรฐานอยู่ในบรรจุภัณฑ์ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าทองม้วนยังคงกรอบและมีรสชาติดีเมื่อถึงมือผู้บริโภค

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเรามีของดี ของอร่อยอยู่มากมาย ซึ่งสามารถจะแปรเปลี่ยนให้เป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี ความเคยชินหรือความรู้สึกธรรมดาของขนมไทย แต่จะกลายเป็นความแปลกใหม่ ที่พ้นความจำเจของผู้บริโภคชาวจีน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ผลิตขนมไทยมีคุณภาพ ที่สามารถปรับรสชาติความหวานให้ถูกรสนิยมผู้บริโภค ตลอดจนใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนได้แล้ว รวมทั้งไม่เสียดายที่จะให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองก่อน แค่นี้ก็ถือว่า ขนมไทย ขนมขบเคี้ยว หรือของทานเล่นแบบไทยๆ ก็สามารถทำตลาดได้ดีในประเทศจีนแล้ว

สินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวและขนมท่านเล่นไทยตรากินรี เป็นเพียงแค่ตัวอย่างที่ยืนยันความจริงได้ว่า ร้านยูนนานคุนไท่กว่างต้า ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าจากประเทศไทยเพียงอย่างเดียวในนครคุนหมิง สามารถขายในจีนได้ดีจนกระทั่งมีแบรนด์ “กินรี” เป็นของตนเอง และมีผู้บริโภคมาอุดหนุนที่ร้านอย่างคึกคักเป็นพิเศษทั้งวันธรรมดาและวันเสาร์-อาทิตย์

ดังนั้น จะเป็นการดีหากผู้ประกอบการไทยใส่ใจและให้ความสำคัญกับตลาดจีนอย่างจริงจัง เพราะตลาดจีนในปัจจุบันไม่ใช่ล้าสมัย ประชาชนมีรายได้และมีกำลังซื้อ ดังนั้น สินค้าไทยประเภทขนมที่มี อัตลักษณ์หรือมีเสน่ห์ของความเป็นไทย และเป็นที่ต้องการในตลาดจีน แต่เพียงติดอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการไทยที่ยังไม่มีข้อมูลที่มากเพียงพอ จึงยังไม่กล้าและลังเลใจที่จะทำตลาดขนมขบเคี้ยวและขนมทานเล่นของไทยในประเทศจีน แต่มีผู้ประกอบการบางรายเข้าใจตลาดจีนในเรื่องนี้แล้ว ดังนั้น จึงขอสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยผลิตและจำหน่าย “ของดีต้องอร่อย และของอร่อยต้องดี” ให้ได้มากๆ