บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 11 ตลาดดอกไม้โต่วหนาน

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 11 ตลาดดอกไม้โต่วหนาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,909 view

ในยุค Connectivity ที่คมนาคมขนส่งระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีการเชื่อมโยงมากขึ้น ทำให้การเดินทางถึงกันสะดวกและรวดเร็ว สินค้าคุณภาพดีของประเทศหนึ่งสามารถเดินทางไปปรากฎกายในตลาดอีกประเทศหนึ่งได้อย่างไม่ยากนัก เช่นเดียวกับดอกกุหลาบของจีนที่บุกตลาดไทย และดอกกล้วยไม้ของไทยที่เข้าไปทำตลาดในประเทศจีน

กล้วยไม้ไทยที่เข้าไปทำตลาดในจีน ส่วนใหญ่เดินทางผ่านฮ่องกงเพื่อเข้าจีนแผ่นดินใหญ่ และอีกส่วนหนึ่งเข้าประเทศจีนโดยตรง ผ่านด่านเมืองใหญ่อย่างคุนหมิง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ดอกกุหลาบในเมืองไทยร้อยละ 90 มาจากจีน และส่วนใหญ่มาจากตลาดโต่วหนานในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นตลาดการค้าดอกไม้สดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และยังสามารถเป็นประตูการค้ากล้วยไม้ไทยสู่มณฑลในภาคตะวันตกของจีน

รู้จักโต่วหนาน...ตลาดการค้ากล้วยไม้ไทยสู่มณฑลในภาคตะวันตกของจีน

ตลาดดอกไม้โต่วหนาน (昆明斗南花卉市场) ตั้งอยู่ที่อำเภอเฉิงก้ง นครคุนหมิง เปิดดำเนินการเมื่อปี 2542 บนพื้นที่ 74 หมู่ (ประมาณ 30.8 ไร่) มูลค่าการก่อสร้างในขณะนั้นเกือบ 100 ล้านหยวน การเดินทางสะดวกสบาย เนื่องจากห่างจากตัวเมืองนครคุนหมิงเพียง 18 ก.ม. และห่างจากสนามบิน 36 ก.ม. ประกอบไปด้วย ศูนย์กลางการค้าดอกไม้ตัดสด ศูนย์กลางการค้าดอกกุหลาบ และศูนย์กลางการค้าดอกไม้ชนิดพิเศษ เป็นต้น

ต่อมา ปี 2553 บริษัทพัฒนาเขตอุตสาหกรรมดอกไม้นานาชาติโต่วหนาน(昆明斗南国际花卉产业园开发有限公司)ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทดอกไม้โต่วหนานนครคุนหมิง กองทุน Sun Fund และ กลุ่มบริษัท RongFeng Holding Group Co.,Ltd. ของฮ่องกง ได้จัดสรรเงินลงทุน 3,900 ล้านหยวน ขยายตลาดดอกไม้โต่วหนานให้มีพื้นที่เพิ่มเป็น 1,020 หมู่ (425 ไร่) กลายเป็น “เขตอุตสาหกรรมดอกไม้นานาชาติโต่วหนาน นครคุนหมิง (昆明斗南国际花卉产业园)” ตลาดค้าส่งดอกไม้ตัดสดขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับปริมาณการซื้อขายสูงสุด 60,000 ล้านดอกต่อปี รวมมีมูลค่าการซื้อขายกว่าหมื่นล้านหยวน สร้างอาชีพให้กับประชาชนกว่า 100,000 คน และมีเป้าหมายจะพัฒนาให้กลายเป็นตลาดค้าส่งดอกไม้สดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากตลาดค้าส่งดอกไม้ Aalsmeer ของประเทศเนเธอร์แลนด์

ดอกไม้ที่ซื้อขายในตลาดโต่วหนานมีหลากหลายชนิด โดยมีดอกกุหลาบ ดอกเบญจมาศ และดอกคาเนชั่นเป็นสินค้าหลัก นอกจากนี้ ยังมีดอกไม้นำเข้าคุณภาพดีจากต่างประเทศ อาทิ ดอกลิลลี่จากเนเธอร์แลนด์ ดอกกล้วยไม้สายพันธุ์ฟาแลนนอปซิส อเมบิลิส (Phalaenopsis amabilis) จากไต้หวัน ดอกกุหลาบจากเวียดนาม รวมถึงดอกกล้วยไม้จากประเทศไทย

ปัจจุบัน ตลาดดอกไม้โต่วหนาน เป็นตลาดการค้าดอกไม้ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ในแต่ละวันมีผู้เข้ามาทำการซื้อขายดอกไม้ในตลาดสูงกว่า 10,000 คน มีดอกไม้จำหน่ายมากกว่า 66 ตระกูล 300 กว่าชนิด จำนวน 4 – 6 ล้านดอก มูลค่า 3.5-5.5 ล้านหยวน ทำให้แต่ละวันมีดอกไม้กว่า 500 - 800 ตัน ถูกขนส่งผ่านทางเครื่องบิน รถไฟ และรถยนต์สู่ 80 เมืองทั่วประเทศจีน และ 46 ประเทศทั่วโลก  อาทิ ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รัสเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และฮ่องกง เป็นต้น ภายในตลาด มีพ่อค้าคนกลางกว่า 6,000 ราย มีตัวแทนบริษัทโลจิสติกส์กว่า 50 บริษัทให้บริการ

จากสถิติพบว่า ปีแรกที่เปิดตลาด มีปริมาณการซื้อขายดอกไม้ 410 ล้านดอก  คิดเป็นมูลค่าการค้า 311 ล้านหยวน และข้อมูลล่าสุด ปี 2555 ตลาดดอกไม้โต่วหนานมีปริมาณการซื้อขายดอกไม้สูงถึง 5,140 ล้านดอก คิดเป็นมูลค่าการค้ากว่า 3,700 ล้านหยวน ปริมาณการซื้อขายและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีแรกประมาณ 12 เท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 20 % นอกจากนี้ ปริมาณจำหน่ายดอกไม้สดของตลาดแห่งนี้ครองสัดส่วนราวร้อยละ 70 ของปริมาณจำหน่ายดอกไม้สดทั้งประเทศ เป็นอันดับ 1 ของจีนติดต่อกัน 18 ปี

สำหรับการประมูลดอกไม้ในตลาดโต่วหนาน ดำเนินงานโดยบริษัทศูนย์กลางการค้าและการประมูลดอกไม้นานาชาตินครคุนหมิง (KIFA , 昆明国际花卉拍卖交易中心有限公司) เปิดทำการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 มีพื้นที่ประมูล 26,000 ตารางเมตร (ประมาณ 16 ไร่) มีนาฬิกาแจ้งราคาประมูล 3 เรือนและมีที่นั่งสำหรับเข้าประมูล 300 ที่นั่ง แต่ละวันมีการประมูลดอกไม้ประมาณ 2 ล้านดอก ใช้วิธีประมูลแบบลดราคาจากสูงลงต่ำ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการขยายพื้นที่ให้มีที่นั่งสำหรับผู้เข้าประมูล 600 ที่นั่ง และนาฬิกาแจ้งราคาประมูล 6 เรือน โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2558 จะมีการประมูลดอกไม้วันละ 6 ล้านดอก และเพิ่มเป็นวันละ 10 ล้านดอก ภายในปี 2563 ดอกไม้ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ถูกส่งจำหน่ายในประเทศ และร้อยละ 15-20 ส่งจำหน่ายต่างประเทศ

บริษัทที่เข้าประมูลดอกไม้เพื่อส่งไปจำหน่ายที่ประเทศไทยมีประมาณ 6-7 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะประมูลดอกกุหลาบสีแดง และดอกกุหลาบสีผสมเกรด A และ B หลังจากการประมูลเสร็จสิ้น บริษัทจะนำดอกไม้บรรจุตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งไปยังประเทศไทย โดยใช้เวลาขนส่งประมาณ 2 วัน เมื่อถึงประเทศไทยแล้ว จะมีลูกค้าประจำและพ่อค้าคนกลางมารับซื้อดอกไม้ดังกล่าว

จากสภาพอากาศหนาวจัดและหิมะตกหนักช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2556 และต้นเดือนม.ค. 2557 ในมณฑลยูนนาน ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนในรอบเกือบ 10 ปี ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรม 10 ล้านหมู่ (4.2 ล้านไร่) ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่ากว่า 11,800 ล้านหยวน

ในส่วนของดอกไม้ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของยูนนาน หิมะตกหนักได้สร้างความเสียหายถึง 139,100 หมู่ (57,958 ล้านไร่) คิดเป็นร้อยละ 16.6 ของพื้นที่ปลูกดอกไม้ทั้งหมดของมณฑล โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกดอกไม้สำคัญของมณฑลยูนนาน เช่น นครคุนหมิง เขตต้าหลี่ และเมืองลี่เจียง รวมมูลค่าความเสียหาย 228 ล้านหยวน และนี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์ของไทยในปีนี้ มีราคาแพงกว่าทุกปีที่ผ่านมา

“เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หิมะตกที่คุนหมิง แต่สะเทือนวาเลนไทน์ที่เมืองไทย แล้วในทางกลับกัน กล้วยไม้ของไทยที่เดินทางไปคุนหมิง จะเผชิญกับความท้าทายอย่างไรบ้าง

อนาคตและความท้าทายของกล้วยไม้ไทยในยูนนาน

ดอกกล้วยไม้ที่เดินทางเข้าสู่จีน โดยเฉพาะทางภาคตะวันตกของจีน นิยมผ่านด่านที่คุนหมิง ทำให้ยูนนานกลายเป็นตลาดกล้วยไม้ไทยอันดับ 1 ในจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 95 ของมูลค่าการนำเข้ากล้วยไม้จากไทยทั้งหมด โดยปี 2556 ยูนนานนำเข้ากล้วยไม้ไทยมูลค่า 11.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นอันดับ 5 ของสินค้านำเข้าจากไทย และครองสัดส่วนราวร้อยละ 3 ของสินค้าที่นำเข้าจากไทย

มูลค่าการนำเข้ากล้วยไม้ไทยของมณฑลยูนนาน

ปี

มูลค่า

(ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

เพิ่มขึ้น
(ร้อยละ)

2552

2.96

N/A

2553

6.42

116.89

2554

8.88

38.32

2555

8.91

1.01

2556

11.41

28.06

 

กล้วยไม้ไทยขนส่งไปมณฑลยูนนานทั้งทางอากาศ และทางบก ด้วยเส้นทางกรุงเทพ-คุนหมิง (R3A) ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งทางบกระหว่างชายแดนไทยกับชายแดนจีนที่ใกล้ที่สุด และสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ได้เปิดอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อปลายปี 2556 และยังเป็นตลาดการค้ากล้วยไม้ไทยที่เชื่อมสู่มณฑลในภาคตะวันตกของจีนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ รถที่ขนส่งดอกกุหลาบจากคุนหมิงไปไทย สามารถขนส่งกล้วยไม้ ผลไม้ หัตถกรรมและอาหารแปรรูปของไทยเดินทางมาจีน ถือเป็นการลดต้นทุนการขนส่ง บริษัทนำเข้าส่งออกและโลจิสติกส์ต่างก็พอใจ เพราะมีสินค้าขาออกจากไทยมาจีนให้บริษัทเลือกขนส่งได้หลากหลาย ไม่ต้องขนส่งขาเดียวและตีรถเปล่ากลับ

ผู้บริโภคจีนยูนนานนิยมใช้กล้วยไม้ไทยเพิ่มขึ้นในการตกแต่งสถานที่ในงานพิธีการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางปี 2556 ด้วยนโยบายประหยัดของจีนที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงปรารถนาให้ข้าราชการเป็นตัวอย่างที่ดีงามแก่ประชาชน จึงงัดเอาสารพัดระเบียบมาตรการเพื่อควบคุมดูแลความประพฤติของบรรดาข้าราชการกันอย่างเข้มงวดให้เกิดการประหยัดมัธยัสต์ ทำให้หน่วยงานรัฐบาลหยุดการฟุ่มเฟือย ใช้ดอกไม้เพื่อการจัดงานต่าง ๆ ลดน้อยลง กล้วยไม้ไทยจำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์ใหม่ เน้นตลาดเอกชนที่เป็นระดับ Premium แทน โดยใช้ประดับตามโรงแรม สนามบิน ภัตตาคาร ฯลฯ ซึ่งให้บรรยากาศที่แตกต่างไปจากกล้วยไม้พันธุ์เมืองหนาวที่ยูนนานสามารถปลูกได้ในบางพื้นที่

กล้วยไม้ไทยเกือบทั้งหมดที่นำเข้าจากไทยเป็นสายพันธุ์หวาย และนำเข้าโดยพ่อค้าชาวจีนที่เข้ามารับซื้อในประเทศไทย ซึ่งไทยมีความชำนาญและศักยภาพในการเพาะปลูกกล้วยไม้เขตร้อน เนื่องจากกล้วยไม้ไทยคงทน มีก้านยาว ช่อตรง ดอกสีเข้มสด ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคจีนยูนนาน จึงมีการนำเข้ามายังยูนนานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีโอกาสขยายไปยังสายพันธุ์ต่าง ๆ 

อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยยังขาดความสนใจที่จะนำดอกกล้วยไม้ไทยเข้าร่วมประมูล เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องกำลังการผลิต ภาษา และความคล่องตัวในการดำเนินงาน รวมทั้งความพอใจมากกว่าที่จะตัดขายกล้วยไม้ให้กับพ่อค้าจีนไป ซึ่งหากสามารถส่งเสริมให้มีความร่วมมือทางธุรกิจกับจีนในการนำดอกกล้วยไม้ไทยไปประมูลผ่านศูนย์ประมูล ก็จะช่วยเพิ่มการกระจายและขยายตลาดดอกกล้วยไม้ไทยในจีน ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ไทยในตลาดโลก (2554-2559) เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถในการขยายตลาดส่งออกกล้วยไม้ไทย โดยมีจีนเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของไทย