บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2558 ตอนที่ 2 “คุนหมิงหลัวซือวาน” ศูนย์ค้าส่งใหญ่ยักษ์ของจีนภาคตะวันตก

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2558 ตอนที่ 2 “คุนหมิงหลัวซือวาน” ศูนย์ค้าส่งใหญ่ยักษ์ของจีนภาคตะวันตก

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 904 view

“หลัวซือวาน” เป็นชื่อสถานที่ที่มีความผูกพันกับชาวคุนหมิงมาอย่างยาวนาน ในฐานะศูนย์ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ใจกลางนครคุนหมิง ชนิดที่ว่า คนจีนต่างเมืองหรือชาวต่างชาติที่จะเดินทางมายังหลัวซือวาน เพียงเอ่ยปากถามคนท้องถิ่น ไม่มีชาวคุนหมิงคนไหนจะไม่รู้จัก หรือจะโบกแท็กซี่ก็ไม่ต้องอธิบายเส้นทางให้เยิ่นเย้อ

ปัจจุบัน “หลัวซือวาน” ได้ย้ายจากบ้านหลังเดิมไปยังบ้านหลังใหม่แล้ว ทำให้ใครที่คิดจะเดินทางไปหลัวซือวาน ก็ต้องระบุกันให้ชัดเจนว่า จะไป “หลัวซือวานเก่า” หรือ “หลัวซือวานใหม่” เพราะหากสื่อสารไม่ชัดเจน นอกจากจะเสียทั้งเวลาและสตางค์ค่ารถไปฟรีๆ แล้ว คงต้องเสียอารมณ์ไปไม่น้อย บทความฉบับนี้ จะนำผู้อ่านมารู้จักกับประวัติความเป็นมาของ “หลัวซือวาน” แบบย้อนอดีตไป 300 ปีก่อน

“หลัวซือวาน” เมื่อ 300 ปีก่อน

เมื่อกล่าวถึงคุนหมิง ก็ต้องนึกถึง “ทะเลสาบเตียนฉือ” แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และแหล่งทำมาหากินสำคัญสำหรับเกษตรกร และชาวประมงท้องถิ่น “ทะเลสาบเตียนฉือ” แห่งนี้นี่เองที่เป็นที่มาของชื่อ “หลัวซือวาน”

“ทะเลสาบเตียนฉือ” ซึ่งปัจจุบันมีขนาดประมาณ 300 ตร.กม. มีความยาวโดยรอบประมาณ 163 กม. ช่วงกว้างที่สุดจากฝั่งตะวันออกถึงฝั่งตะวันตก 13 กม. ช่วงกว้างที่สุดจากฝั่งเหนือถึงฝั่งใต้ 39 กม. และมีปริมาณความจุน้ำประมาณ 1,570 ล้าน ลบ.ม. แต่ทะเลสาบเตียนฉือเมื่อ 300 ปีก่อนนั้นมีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันหลายเท่า โดยทะเลสาบด้านตะวันออกเฉียงเหนือกินบริเวณจนเกือบถึงที่ตั้งของ “หลัวซือวานเก่า” ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองคุนหมิงในอดีต “หลัวซือวาน” จึงกลายเป็นท่าเรือและแหล่งค้าขายสัตว์น้ำที่สำคัญของเมืองคุนหมิงในอดีต เห็นได้จากชื่อ “หลัวซือวาน” ซึ่งคำว่า “หลัวซือ” (螺蛳) ในภาษาจีนมีความหมายว่า “หอยตระกูลที่มีเปลือกเป็นเกลียว” และคำว่า “วาน” ที่ย่อมาจาก “ก่างวาน” (港湾) ซึ่งมีความหมายว่า “ท่าเรือ”

เนื่องจากการขยายตัวของเมือง ทำให้ต้องมีการถมทะเลสาบบางส่วนเพื่อเพิ่มพื้นที่เมือง แต่แม้ “หลัวซือวาน” จะไม่ได้เป็นท่าเรือและแหล่งค้าขายสัตว์น้ำแล้ว แต่ชาวคุนหมิงก็ยังคงเรียกพื้นที่บริเวณดังกล่าวว่า “หลัวซือวาน” จนถึงปัจจุบัน

กำเนิดศูนย์ค้าส่งสินค้า “หลัวซือวาน”

ศูนย์ค้าส่งสินค้า “หลัวซือวาน” หรือ “หลัวซือวานเก่า” ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ  ที่ 1980 ซึ่งพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มแรกที่เข้ามาจับจองพื้นที่ทำธุรกิจค้าส่งใน “หลัวซือวาน” ก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายตามแผงลอยตลอดแนวถนน “ชิงเหนียนลู่” (青年路) ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ตั้งของศูนย์ค้าส่งสินค้า “หลัวซือวาน”

ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังจากการดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการ “หลัวซือวาน” ได้กลายเป็นศูนย์ค้าส่งที่มีขนาดใหญ่และคึกคักที่สุดในนครคุนหมิง จากพื้นที่ 5,700 ตร.ม.ขยายเป็นกว่า 1 ล้าน ตร.ม. จากผู้ประกอบการเมื่อเริ่มต้นจำนวน 1,260 รายเพิ่มเป็นกว่า 12,000 ราย มีผู้ซื้อเข้า-ออกวันละกว่า 150,000 คน/ครั้ง ทั้งจากภายในมณฑลยูนนานเอง และมณฑลใกล้เคียง อาทิ เสฉวน กุ้ยโจว กว่างซี รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม จนมียอดซื้อ-ขายปีละไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านหยวน

เมื่อสถานที่คับแคบ ไม่เพียงพอที่จะรับรองผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่สนใจจะเข้ามาค้าขาย และผู้ซื้อจากทั่วสารทิศที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งถนนโดยรอบที่ต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้ต้องมีการพิจารณาหาบ้านหลังใหม่ให้กับ “หลัวซือวาน”

วันที่ 1 ธันวาคม 2552 เป็นวันปิดตัวลงอย่างเป็นทางการของศูนย์ค้าส่งสินค้า “หลัวซือวาน” หรือ “หลัวซือวานเก่า” โดยในวันก่อนวันปิดตัว มีชาวคุนหมิงจำนวนมากมาเยี่ยมเยือน “หลัวซือวาน” เพื่ออำลาและเก็บเกี่ยวบรรยากาศของศูนย์ค้าส่งสินค้าที่ผูกพันกับชาวคุนหมิงมานานหลายปีแห่งนี้ไว้ในความทรงจำ รวมทั้งเลือกซื้อสินค้าราคาถูกถล่มทลายที่ผู้ประกอบการนำมาลดราคาขายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะต้องวุ่นวายกับการขนย้ายสินค้าจากบ้านหลังเก่าสู่บ้านหลังใหม่ “หลัวซือวานใหม่”

“หลัวซือวานใหม่” ศูนย์ค้าส่งใหญ่ยักษ์แห่งที่ 2 ของจีน

“หลัวซือวานใหม่” ตั้งอยู่บริเวณถนนไฉ่หยูนเป่ยลู่ (彩云北路) ตัดกับถนนกว่างฝูลู่ (广福路) ห่างจาก “หลัวซือวานเก่า” ประมาณ 16 กม. เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2551 ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 32,000 ล้านหยวน ใช้เวลาเพียง 1 ปีกว่า ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อว่า “Luosiwan International Trade City”   (螺蛳湾国际商贸城) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552 โดยใช้โครงสร้างอาคารและรูปแบบการบริหารเหมือนกับ “Yiwu International Trade City” (义乌国际商贸城) มณฑลเจ้อเจียง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดอี้อู”

“หลัวซือวานใหม่” เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันตกของจีน (中国西部大开发) และ “ยุทธศาสตร์หัวสะพาน” (桥头堡) เพื่อส่งเสริมให้มณฑลยูนนานเป็นประตูด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา และวัฒนธรรม กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยสร้างโครงข่ายการคมนาคมรองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าว อาทิ ทางด่วนนานาชาติ 4 สาย เส้นทางรถไฟแพนเอเชีย เส้นทางรถไฟภายในประเทศ 8 สาย ซึ่งรวมถึงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ ท่าอากาศฉางสุ่ยคุนหมิงที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน พร้อมทั้งเร่งก่อสร้างและปรับปรุงท่าอากาศยาน 12 แห่งในเมืองสำคัญของมณฑลยูนนาน

“หลัวซือวานใหม่” ซึ่งประกอบด้วยอาคาร 5 ชั้น จำนวน 21 อาคาร มีพื้นที่รวมกว่า 3 ล้าน ตร.ม. มีสินค้าครอบคลุมทุกกลุ่ม อาทิ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ในครัวเรือน และตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดผู้ซื้อจำนวนมากจากมณฑลใกล้เคียงและประเทศโดยรอบ เพื่อส่งเสริมให้มณฑลยูนนานบรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างจีนภาคตะวันตกกับประเทศในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้

“หลัวซือวานใหม่” ความฝัน ความจริง และโอกาส

ตั้งแต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน “หลัวซือวานใหม่” มีความคึกคักไม่ด้อยไปกว่า “หลัวซือวานเก่า” ตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็นคราคร่ำไปด้วยผู้ขายและผู้ซื้อ พลุกพล่านไปด้วยรถรามากมายทั้งที่มาส่งผู้ซื้อ และบรรทุกสินค้าออกไป อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยหลายประการ ทำให้ “หลัวซือวานใหม่” ยังห่างไกลจากเป้าหมายแรกเริ่มที่ต้องการจะเป็นศูนย์กลางการค้าของจีนภาคตะวันตก

การที่นครคุนหมิงไม่ใช่แหล่งผลิตสินค้า ส่งผลให้สินค้าส่วนใหญ่ต้องขนส่งมาจากมณฑลฝั่งตะวันออกของจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญของจีน ทำให้สินค้าที่จำหน่ายในหลัวซือวานไม่มีข้อได้เปรียบด้านราคา เนื่องจากต้องรับสินค้ามาอีกทอดหนึ่ง อีกทั้งเมื่อมีกระแสนิยมสินค้าชนิดใหม่ก็ต้องรอการผลิตและขนส่งมาจากที่อื่น ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อกระแสความนิยมของผู้ซื้อได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนั้น ที่ตั้งซึ่งค่อนข้างห่างไกลจากตัวเมือง ขาดระบบโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์รองรับการขนส่งและการกระจายสินค้า ก็เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง ทำให้ปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าหลักของหลัวซือวานจึงเป็นพ่อค้าแม่ขายรายย่อยในนครคุนหมิงที่มาซื้อสินค้าเหมาจากหลัวซือวานเพื่อนำไปขายปลีกอีกทอดหนึ่ง ลูกค้าหลักอีกหนึ่งกลุ่มของหลัวซือวานคือผู้ค้าปลีกในหัวเมืองรองของมณฑลยูนนาน โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะไม่เดินทางเข้ามาเลือกซื้อสินค้าที่หลัวซือวานด้วยตนเอง แต่จะทำการเลือกสินค้าจากผู้ขายขาประจำโดยพิจารณาจากภาพถ่าย จากนั้น ผู้ขายจะจัดส่งสินค้าไปให้โดยใช้บริการของบริษัทรับจ้างขนส่งสินค้าท้องถิ่น

เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงจะเกิดความคิดอยากจะรู้ว่า ในนครคุนหมิงจะมีโอกาสสำหรับสินค้าไทยหรือไม่ และโอกาสนั้นอยู่ที่ไหน บทความฉบับถัดไปจะนำผู้อ่านไปรู้จักกับสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าไทยมากมายหลายชนิดในนครคุนหมิง ในชื่อตอน “พาเดินเล่นหยุนฝ่าง ศูนย์ค้าส่งค้าปลีกสินค้าไทยที่ใหญ่สุดในนครคุนหมิง”