งานความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ยูนนาน ประจำปี 2560 ณ มหาวิทยาลัยยูนนาน นครคุนหมิง

งานความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ยูนนาน ประจำปี 2560 ณ มหาวิทยาลัยยูนนาน นครคุนหมิง

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,513 view

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ได้ร่วมกับกรมการศึกษามณฑลยูนนาน จัดงานความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ยูนนาน ประจำปี2560 ระหว่างวันที่ 27-28 มิถุนายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยยูนนาน นครคุนหมิง โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษานำมหาวิทยาลัยไทย 16 แห่ง เข้าร่วมสร้างเครือข่ายและพบปะหารือกับสถาบันการศึกษาจากยูนนาน 44 แห่ง รวมผู้เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน

งานในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อต่อยอดจากกิจกรรมแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายอุดมศึกษาไทย–ยูนนาน ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ และกรมการศึกษามณฑลยูนนานได้ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยงานครั้งนี้ได้มีกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาอย่างรอบด้านในทุกระดับ ประกอบด้วย 1) เวทีการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยไทย-ยูนนาน เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือในเชิงนโยบาย 2) กิจกรรมจับคู่หารือระหว่างมหาวิทยาลัยไทย-ยูนนาน เพื่อหาคู่ความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย 3) การออกบูธแนะแนวการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย เพื่อดึงดูดให้นักเรียนจีนไปศึกษาต่อที่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น 4) การสัมมนาการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย เพื่อให้ข้อมูลเทคนิคการสอนภาษาไทยแก่อาจารย์ชาวจีนที่เป็นครูสอนภาษาไทย และ 5) กิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างนักศึกษาไทย-จีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในระดับเยาวชน

ในพิธีเปิด นายพรภพ อ่วมพิทยา กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักในการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยจากไทยและยูนนานได้สร้างเครือข่าย พบหารือ และผลักดันความร่วมมือ ใหม่ๆ เพื่อ “ยกระดับ” ความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ยูนนาน ที่จะมีส่วนในการพัฒนาประเทศไทยและจีน ตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” และ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมของทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรม

นายบัณฑิต ทิพากร รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ให้ภาพรวมเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนา การอุดมศึกษาของไทยภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” โดยย้ำถึงความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศน์การอุดมศึกษาที่จะเอื้อต่อการพัฒนา “คนไทย 4.0” ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และสามารถใช้ทักษะความเชี่ยวชาญได้อย่างรอบด้าน ตลอดจนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเน้นองค์ความรู้ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การเกษตร สุขภาพและสาธารณสุข บริการที่สร้างสรรค์และสร้างมูลค่าเพิ่ม หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยนายบัณฑิตฯ ได้แสดงความหวังว่า ไทยและยูนนานจะสามารถหาจุดร่วมกันภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” และ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เพื่อพัฒนาบุคลากรและการศึกษาของทั้งสองฝ่าย อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

นายโจว หรง อธิบดีกรมการศึกษามณฑลยูนนาน ได้มีข้อเสนอแนะ 4 ประการ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย-ยูนนาน ภายใต้นโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ได้แก่ 1) จัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานการศึกษาของไทยและยูนนาน เพื่อให้บุคลากรได้พบหารือและดำเนินงานความร่วมมือกันเป็นประจำ 2) สร้างความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยไทย-ยูนนานในระยะยาว เพื่อขยายความร่วมมือในสาขาต่างๆ 3) ร่วมจัดตั้งห้องทดลอง (Lab) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ การเกษตร ชีวภาพ เครื่องจักรสมัยใหม่ เป็นต้น และ 4) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านภาษาและวัฒนธรรมของอีกฝ่าย โดยสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมระหว่างกัน

ในเวทีการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยไทย-ยูนนาน ผู้แทนของมหาวิทยาลัยจากทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นนโยบายต่างๆ โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการจัด cluster สาขาวิชาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจจะร่วมมือกัน ทั้งในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ (เช่น ด้านอาหาร พลังงาน วิทยาศาสตร์สุขภาพ) และศิลปศาสตร์ / สังคมศาสตร์ (เช่น ด้านภาษาศาสตร์ ศิลปการออกแบบ การท่องเที่ยว โลจิสติกส์) เพื่อเป็นเวทีสำหรับกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจในด้านนั้นๆ ได้ดำเนินความร่วมมือร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังได้เสนอความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและสหกิจศึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ทำงานกับภาคอุตสาหกรรมในประเทศของอีกฝ่าย ซึ่งฝ่ายยูนนานเห็นพ้องด้วย และฝ่ายไทยยังได้แบ่งปันประสบการณ์การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในบริบทที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ในส่วนของผู้แทนมหาวิทยาลัยจากยูนนานได้เสนอแนะประเด็นความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกัน 1) สร้างกลไกความร่วมมือระหว่างกันในระยะยาว โดยการสนับสนุนของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย 2) สร้างกลไกการเทียบโอนหน่วยกิต เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกัน และ 3) ส่งเสริมการวิจัยร่วมในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นภูมิภาค อาทิ ประเด็นในกรอบล้านช้าง-แม่โขง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน นอกจากนี้ ฝ่ายยูนนานยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งสหภาพมหาวิทยาลัยไทย-ยูนนาน (Thai-Yunnan University Union) เพื่อเป็นกลไกถาวรในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยของทั้งสองฝ่าย ซึ่งผู้แทนมหาวิทยาลัยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างรอบด้าน

กิจกรรมการจับคู่หารือระหว่างมหาวิทยาลัยไทย-ยูนนาน เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงโอกาสการพัฒนาความร่วมมือในเบื้องต้น และบางคู่สถาบันได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกันในระหว่างงานด้วย นอกจากนี้ มีนักเรียนชาวจีนสนใจสอบถามข้อมูลการศึกษาต่อที่ประเทศไทยจากบูธมหาวิทยาลัยไทยอย่างต่อเนื่อง

มหาวิทยาลัยไทยที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ต่างเห็นว่า งานความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ยูนนานมีประโยชน์ในการวางนโยบายความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ยูนนาน สร้างเครือข่าย แสวงหาความร่วมมือในประเด็นใหม่ๆ และควรมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันประเด็นหารือต่างๆ ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ติดตามผลการจัดงานและผลักดันความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมคึกษาทั้งสองฝ่ายให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ