วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,335 view

 

ความร่วมมือด้านการศึกษา

ไทยกับยูนนานมีความร่วมมือด้านการศึกษาอย่างแข็งขัน และเข้มข้น โดยมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ และการให้ทุนการศึกษาระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้เวียนโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาไทยกับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงยูนนาน เป็นประจำทุกปี ในขณะเดียวกัน นักศึกษาไทยนิยมเดินทางมาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในยูนนาน อาทิ มหาวิทยาลัยยูนนาน มหาวิทยาลัยยูนนานนอร์มอล มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุนหมิง มหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์ยูนนาน และมหาวิทยาลัยชนชาติยูนนาน รวมถึงเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา รวมปีละประมาณ 2,000 คน ทั้งนี้ รัฐบาลยูนนานจัดให้ความร่วมมือด้านการศึกษากับไทยมีความสำคัญอันดับต้น โดยในปีที่ผ่านมานักศึกษาไทยได้รับทุนการศึกษา 98 ทุน มากที่สุดในประเทศสมาชิก GMS 

ปัจจุบัน ภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่นักศึกษาจีนยูนนาน มีนักศึกษาจีน เรียนวิชาเกี่ยวกับไทย และภาษาไทย มากกว่า 4,000 คน ในสถาบันการศึกษา 30 แห่งทั่วมณฑล  ยูนนาน และมีนักศึกษาจีนยูนนานเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศไทยปีละประมาณ 2,000 คน  และกรมการศึกษา มณฑลยูนนานได้มีนโยบายให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในมณฑลยูนนานเปิดสอนวิชาภาษาไทยเป็นวิชาเลือก ซึ่งช่วยให้ภาษาไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาของยูนนานที่มีการเรียนการสอนภาษาไทยโดดเด่นที่สุด ได้แก่ มหาวิทยาลัยชนชาติยูนนานเป็น 1 ใน 6 ของมหาวิทยาลัยทั่วจีน ที่เปิดสอนภาษาไทยเป็นวิชาเอกในระดับปริญญาตรี และเป็นแห่งเดียวในมณฑลยูนนานที่เปิดสอนภาษาไทยเป็นวิชาเอกระดับปริญญาโท โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการเสนอขอเปิดหลักสูตรปริญญาเอก

ล่าสุด ได้มีการการจัดทดสอบมาตรฐานสมรรถภาพภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศเป็นครั้งแรกในมณฑลยูนนาน และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งที่ 4 ของจีน โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์ภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับศูนย์ไทยศึกษา มหาวิทยาลัยยูนนาน เมื่อ 14-16 พฤษภาคม 2555  ซึ่งสอดรับกับแนวโน้มของความนิยมการเรียนการสอนภาษาไทยในยูนนานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยของสถาบันการศึกษาในยูนนานให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับปริมาณที่เพิ่มขึ้นของนักศึกษาจีนยูนนานที่สนใจเรียนภาษาไทย

ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในมณฑลยูนนานกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย

1. มหาวิทยาลัยชนชาติยูนนาน (Yunnan Nationalities University)

ความเป็นมา  มหาวิทยาลัยเริ่มเปิดสอนวิชาเอกภาษาไทยตั้งแต่ปี 2536 โดยมีทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโท (เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในมณฑลยูนนานที่เปิดหลักสูตรวิชาเอกภาษาไทยในระดับปริญญาโท) นอกจากนี้ ยังมีการศึกษานอกระบบ (อนุปริญญา) อีกด้วย

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน  มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งหมด 270 คน แบ่งเป็น 6 ห้อง มีนักศึกษาระดับปริญญาโททั้งหมด 70 คน และนักศึกษาระดับอนุปริญญามีทั้งหมด 280 คน แบ่งเป็น 5 ห้อง โดยมีอาจารย์คนจีน 9 คน และอาจารย์คนไทยจากมหาวิทยาลัยบูรพา 1 คน (นักศึกษาหลายคนที่สำเร็จการศึกษาจากที่นี่ ได้ไปเป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาไทยในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในยูนนาน )

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย  ปัจจุบันมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระดับปริญญาตรีในรูปแบบ 3+1 กับมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งนักศึกษาจีนจะศึกษาภาษาไทยที่ประเทศจีนในชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 ส่วนในชั้นปีที่ 3 นักศึกษาจะไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี และในชั้นปีที่ 4 จะกลับมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชนชาติยูนนานอีกครั้ง นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังได้จัดให้นักศึกษาระดับอนุปริญญาที่จบการศึกษาแล้ว ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หรือศึกษาหลักสูตรภาษาไทยระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี และราชภัฎอุตรดิตถ์อีกด้วย

2. มหาวิทยาลัยโทรทัศน์และวิทยุยูนนาน (Yunnan TV and Radio University)

ความเป็นมา  เปิดสอนวิชาเอกภาษาไทยควบคู่กับวิชาเอกภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี 2536 โดยเปิดเป็นหลักสูตรปริญญาบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน  มีนักศึกษาภาษาไทยแต่ละปีการศึกษาประมาณ 100 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 ห้อง อาจารย์ผู้สอนทั้งหมด 4  คน แบ่งเป็นอาจารย์ประจำคนจีน 3 คน และอาจารย์พิเศษคนไทย 1 คน

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย  มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่สำเร็จการศึกษาแล้ว จะเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรียังมหาวิทยาลัยในประเทศไทย มหาวิทยาลัยที่ได้ติดต่อ คือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยทุกปีการศึกษาจะมีโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์ผู้สอนปีละ 1 คน

3. โรงเรียนภาษาต่างประเทศคุนหมิง (Kunming Foreign Language School)

ความเป็นมา  เริ่มเปิดสอนวิชาเอกภาษาไทยตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งถือเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแห่งแรกในนครคุนหมิงที่เปิดการเรียนการสอนภาษาไทย โดยเปิดเป็นหลักสูตรสำหรับนักเรียนระดับมัธยมปลาย

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน  โรงเรียนมีการเรียนการสอนภาษาไทยตั้งแต่ระดับชั้น ม.4 – ม.6 แบ่งเป็น 3 ห้องเรียน ระดับละ 1 ห้องเรียน นักเรียนทั้งหมดประมาณ 110 คน และอาจารย์ประจำคนจีน 1 คน และอาจารย์พิเศษคนไทย 1 คน

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย  ในทุกปีการศึกษา นักเรียนที่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนหนึ่ง จะไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ประเทศไทย เช่น มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น

4. มหาวิทยาลัยคุนหมิง (Kunming University)

ความเป็นมา เริ่มเปิดการเรียนการสอนภาษาไทยเมื่อปี 2545 โดยเปิดการสอนภาควิชาภาษาไทยเฉพาะสาขามัคคุเทศก์เท่านั้น

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาภาควิชาภาษาไทยทั้งสิ้น 140 คน และที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้มีจำนวน 39 คน โดยนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้ว สามารถที่จะใช้ภาษาไทยในการสนทนาในชีวิตประจำวัน และนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างดี

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย  มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา 2+2 ปีกับมหาวิทยาลัย 3 แห่งในประเทศไทย คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต และมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย โดยมุ่งเน้นการศึกษาด้านบริหารการท่องเที่ยว วัฒนธรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้  ในอนาคตยังมีโครงการที่จะติดต่อกับมหาวิทยาลัยไทยอีก 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา

5. วิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคโนโลยีสิบสองปันนา  (Xishuangbanna Vocational and Technical Institute)

ความเป็นมา  เริ่มเปิดการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นวิชาเอก เมื่อปี 2546 นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ จะได้รับประกาศนียบัตรทางวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน  มีนักศึกษาจีนเรียนภาษาไทยมากกว่า 500 คน จากจำนวนนักศึกษาทั้งหมด 4,000 คน

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย ร่วมมือกับวิทยาลัยอินเตอร์เทค

ลำปาง (Lampang Inter Tech College-LITC) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และเทศบาลเชียงราย โดยการแลกเปลี่ยนอาจารย์ผู้สอน รวมทั้งสนับสนุนการสร้างศูนย์ภาษาจีนที่ LITC และเทศบาลนครเชียงราย ซึ่ง LITC ยังสร้างศูนย์ภาษาไทยให้แก่วิทยาลัย นอกจากนี้ วิทยาลัยฯ ยังมีการส่งนักศึกษาไปฝึกงานที่ประเทศไทย

6. โรงเรียนการท่องเที่ยวคุนหมิง (Kunming Tourism Vocational School)

ความเป็นมา เริ่มเปิดการเรียนการสอนภาษาไทยเมื่อปี 2546 เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรทางวิชาชีพชั้นต้น (ปวช.)

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน มีนักเรียนเอกวิชาภาษาไทยทั้งหมด 7 ห้อง จำนวน 265 คน โดยมีอาจารย์ผู้สอนคนจีน 3 คน และอาจารย์คนไทยอีก 1 คน

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย  ปัจจุบันโรงเรียนมีโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง โดยนักเรียนที่จบจากโรงเรียนการท่องเที่ยวคุนหมิงสามารถเข้าศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งได้โดยไม่ต้องผ่านการสอบ นอกจากนี้ ยังมีการติดต่อแลกเปลี่ยนบุคลากรครูชาวจีนและไทย โดยผ่านกระทรวงศึกษาธิการของไทยด้วย

7. โรงเรียนการท่องเที่ยว มณฑลยูนนาน (Yunnan Provincial Tourism School)

ความเป็นมา  เริ่มเปิดการเรียนการสอนภาษาไทยเมื่อปี 2548 นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ จะได้รับประกาศนียบัตรทางวิชาชีพชั้นต้น (ปวช.)

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน  มีวัตุประสงค์เพื่อฝึกอบรมเป็นมัคคุเทศก์ มีนักเรียนมากกว่า 200 คน มีอาจารย์คนจีน 4 คน และอาจารย์ไทย 1 คน

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย  มีโครงการส่งนักเรียนไปศึกษาเพิ่มเติมที่โรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยีเชียงใหม่ และโรงเรียนบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ เป็นประจำปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 - 5 เดือน นอกจากนี้ ยังมีแผนการส่งนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

8. มหาวิทยาลัยครูยวี่ซี  (Yuxi Normal University)

ความเป็นมา เดิมมหาวิทยาลัยเปิดสอนภาษาไทยเป็นวิชาเลือกเมื่อปี 2541 และได้เปิดสอนเป็นวิชาเอกภาษาไทยในปี 2548 โดยเป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และหลักสูตรอนุปริญญา 2 ปี

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน มีนักศึกษาประมาณ 150 คน โดยแบ่งเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาในประเทศไทย 80 คน (ชั้นปีที่ 3) และเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาในประเทศจีนอีก 70 คน (ชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2)

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนในประเทศไทยกว่า 7 แห่ง ที่สำคัญ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

9. มหาวิทยาลัยตำรวจยูนนาน (Yunnan Police Officer Academy)

ความเป็นมา เปิดสอนวิชาภาษาไทยตั้งแต่ปี 2548 โดยบรรจุเป็นวิชาเสริมในคณะป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน มีนักเรียนวิชาภาษาไทยทั้งหมด 4 ห้อง รวมจำนวนประมาณ 200 คน มีอาจารย์คนไทยที่มาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ 1 คน

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย  มีการติดต่อร่วมมือกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจไทยตั้งแต่ปี 2542  โดยได้ส่งอาจารย์ และนักศึกษาแลกเปลี่ยนกันแล้วถึง 6 รุ่น รวมจำนวนทั้งหมด 106 คน นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันแต่งหนังสือแบบเรียนสำหรับนักเรียนตำรวจ ที่เป็นฉบับภาษาจีน ไทย อังกฤษ รวม 3 ภาษาด้วย

10. มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการเงินมณฑลยูนนาน  (Yunnan University of Finance and Economics)

ความเป็นมา  เริ่มเปิดการเรียนการสอนภาษาไทยเมื่อปี 2551 เปิดสอนภาษาไทยเป็นวิชาเลือก เช่นเดียวกับภาษาประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ  คือ ภาษาเวียดนาม และพม่า

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน  ภาษาไทยเป็นภาษาที่นักศึกษาชาวจีนให้ความนิยมเลือกเรียนมากที่สุด โดยมีจำนวนถึง 100 คน ในขณะที่นักศึกษาเลือกเรียนภาษาเวียดนาม 28 คน และภาษาพม่า 25 คน

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย  ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และประสงค์จะขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ของไทย ที่เน้นด้านการพาณิชย์ เศรษฐศาสตร์และการเงิน โดยในปัจจุบัน สถานกงสุลใหญ่ได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตรให้แล้ว

11. มหาวิทยาลัยครู มณฑลยูนนาน (Yunnan Normal University)

ความเป็นมา เริ่มเปิดการเรียนการสอนภาษาไทยเมื่อปี 2548 ในปี 2553 จะเปิดเป็นวิชาเอกภาษาไทยในคณะภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศ

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน มีนักเรียนวิชาภาษาไทยภาคเรียนละ 1 ห้องเป็นจำนวน 50 คน โดยมีอาจารย์ผู้สอนชาวไทย 2 คน

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย  ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีโครงการความร่วมมือ “1 + 4” กับมหาวิทยาลัย  ต่าง ๆ ในไทย อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น และมีโครงการความร่วมมือ “2+2” กับมหาวิทยาลัยศิลปากร

12. มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุนหมิง  (Kunming University of Science and Technology)

ความเป็นมา เริ่มเปิดการเรียนการสอนภาษาไทยเมื่อปี 2551 โดยเปิดสอนภาษาไทยเป็นวิชาเลือก

การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน  ภาษาไทยได้รับความนิยมจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันมีนักศึกษาเลือกเรียนภาษาไทยเป็นวิชาเลือกมากกว่า 100 คน

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย  มีความร่วมมือในด้านการวิจัย และการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท เอก กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี