วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 33,476 view

 

วัฒนธรรมท้องถิ่นและมารยาททางสังคมที่ควรรู้

1. วัฒนธรรมท้องถิ่น

-  ชาวจีนมักทักทายกันโดยการจับมือ และกล่าวคำสวัสดีว่า “หนี ห่าว” การเรียกชื่อ ให้เรียกนามสกุล (แซ่) ก่อน แล้วตามด้วยคำว่า “เซียน เซิง” สำหรับผู้ชาย ถ้าทราบตำแหน่งก็อาจเรียกนามสกุล + ตำแหน่ง จะเป็นการเหมาะสมที่สุด สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อย เช่น พนักงานเสริฟ หรือ พนักงานโรงแรม อาจเรียก “ฝู อู้ เยวียน” หรือ “เหมย นวี่” ควรเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “ถง จื้อ” ซึ่งแปลว่า “สหาย” ซึ่งล้าสมัย และคำว่า “เสียว เจี่ย” ซึ่งปัจจุบันมีความหมายแฝงเชิงลบ

-  การพูดคุยนับญาติกับจีน โดยระบุว่าสมัยโบราณ เช่น เผ่าไทยเคยอยู่ทางตอนใต้ของจีน และถูกรุกรานจนถอยร่น ลงมาอยู่ในแหลมสุวรรณภูมิในปัจจุบัน อาจสร้างความสับสน และไม่สร้างความรู้สึกร่วมกับคู่สนทนา

-  คนจีนโดยทั่วไปจะรับ “dirty joke” ไม่ค่อยได้

-  การแต่งกายเมื่อไปชมสถานที่โบราณ หรือมีความสำคัญทางศาสนา เช่น วัด ควรสำรวม เช่นเดียวกับในประเทศไทย ควรระมัดระวังข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามถ่ายภาพในบางสถานที่

 

2.  มารยาทในการรับประทานอาหาร :

-  ในการดื่มสุรา ไม่ควรดื่มโดยไม่ชักชวนผู้อื่นให้ดื่มร่วมกัน เจ้าภาพมักจะดื่มเพื่อเป็นเกียรติแก่แขก โดยพูดคำว่า “กันเปย” ซึ่งหมายถึง ชนแก้ว หรือดื่มให้หมดแก้ว

-  การสั่งอาหารเลี้ยงชาวจีนควรสั่งให้อาหารเหลือบ้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจ้าภาพมีฐานะดี และให้เกียรติแขก

-  ตอนท้ายของมื้อ มักจะมีการเสิร์ฟข้าว หรือ ก๋วยเตี๋ยว เป็นการแสดงความถ่อมตนของเจ้าภาพว่า อาจจะเลี้ยงแขกไม่อิ่มจึงต้องสั่งข้าวมา

-  แขกและเจ้าภาพสามารถตักอาหารให้แก่กันได้ โดยใช้ตะเกียบ หรือ ช้อนกลาง หากไม่มี ควรใช้ตะเกียบ หรือ ช้อนของผู้ที่เราต้องการตักอาหารให้ ตักอาหารแทน

-  ปกติงานเลี้ยงอาหารกลางวันมักจะเสร็จสิ้นภายในเวลา 1 ชั่วโมง และอาหารเย็นประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

-  ร้านอาหารบางแห่งอาจมีระเบียบไม่ให้พนักงานรับทิป และบางร้านได้รวมค่าบริการไว้กับค่าอาหารแล้ว