วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 19,803 view

สถานะ ณ วันที่ 14 มกราคม 2559

มณฑลยูนนาน

ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่

  • ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีชื่อย่อว่า “เตียน” (Dian) มีที่มาจากชื่อของทะเสสาบสำคัญในนครคุนหมิง ยูนนานเป็นมณฑลตอนในที่ไม่มีทางออกทะเล โดยมีอาณาเขตติดต่อกับ 2 มณฑล และ 2 เขตปกครองตนเอง (มีฐานะเทียบเท่ามณฑล) คือ ทิศเหนือติดมณฑลเสฉวน ทิศตะวันออกติดมณฑลกุ้ยโจวและเขตปกครองตนเองกว่างซี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับเขตปกครองตนเองทิเบต
  • มีพรมแดนติดต่อ กับ 3 ประเทศ คือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตกมีพรมแดนติดกับประเทศพม่า (1,997 กม.) ทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศใต้ติดกับเวียดนาม (1,353 กม.) และลาว (710 กม.) รวมระยะทางพรมแดนที่ติดต่อกับต่างประเทศ 4,060 กม. หรือเท่ากับ 1 ใน 5 ของพรมแดนทางบกทั้งประเทศ
  • มีพื้นที่ 394,000 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของจีน ร้อยละ 93 เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีพื้นที่เพาะปลูกเพียงร้อยละ 7.3 ของพื้นที่ทั้งมณฑล จากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกมีระยะทาง 864.9 กม. และจากทิศเหนือไปยังทิศใต้มีระยะทาง 990 กม. ภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงและลาดต่ำลงมาทางภาคใต้และ ตะวันออกเฉียงใต้ ยูนนานมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลในพื้นที่แตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลสูงที่สุด 6,740 เมตร ที่อำเภอเต๋อชิน (เขตตี๋ชิ่ง) และต่ำสุด 76.4 เมตร อยู่ที่อำเภอเหอโข่ว (เขตหงเหอ) ส่วนคุนหมิงมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,891 เมตร

ข้อมูลประชากร

มีประมาณ 47 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น และมีชนกลุ่มน้อยอีก 25 ชนชาติ เช่น จ้วง (Zhuang) ฮุย (Hui) แม้ว (Miao) ทิเบต (Zang) เย้า (Yao) ไป๋ (Bai) ว้า (Wa) น่าซี (Naxi) ตูหลง (Dulong) ลีซอ (Lisu) ปูลาง (Bulang) จัดเป็นมณฑลที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากที่สุดของจีน

สภาพภูมิอากาศ

มีอากาศเย็นสบาย ฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัดและฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง 15-18 องศาเซลเซียส นครคุนหมิงได้รับสมญาว่าเป็น “เมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิ (Spring City) ของจีน”

ทรัพยากรสำคัญ

  • แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์ไม้และสัตว์นานาชนิด จนได้รับสมญานามว่า "อาณาจักรแห่งพันธุ์ไม้" และ "อาณาจักรแห่งสัตว์" และยังมีแหล่งพลังงานทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำและพลังความร้อนจากถ่านหิน รวมทั้งมีแหล่งทรัพยากรท่องเที่ยวมากมาย
  • ทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก เหล็กและเหล็กกล้า ฟอสฟอรัส ถ่านหิน ทองแดง ผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญได้แก่ ยาสูบ ชา กาแฟ ดอกไม้ วอลนัท ยางพารา อ้อย สบู่ดำ สมุนไพรและเห็ดป่า อุตสาหกรรมสำคัญได้แก่ บุหรี่ ไฟฟ้า โลหะ ท่องเที่ยว น้ำตาล ใบชา ยางพารา เป็นต้น
  • มีแม่น้ำสายสำคัญ 6 สาย ได้แก่ จินซาเจียง จูเจียง หงเหอ หลานชาง นู่เจียง และอิระวดี) และมีศักยภาพที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ถึง 100 ล้านกิโลวัตต์ มากเป็นอันดับที่

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

แบ่งเป็น 16 เขต/เมือง 129 อำเภอ ได้แก่

  • 1 เมืองเอก ได้แก่ นครคุนหมิง (Kunming)
  • 7 เมือง ได้แก่ จาวทง (Zhaotong) ฉวี่จิ้ง (Qujing) ยวี่ซี (Yuxi) ผูเอ่อร์ (Pu’er) เป่าซาน (Baoshan) ลี่เจียง (Lijiang) และหลินชาง (Lincang)
  • 8 เขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อย (Autonomous Prefecture) ได้แก่ เหวินซาน (Wenshan) (ชนชาติจ้วงและแม้ว) หงเหอ (Honghe) (ชนชาติฮาหนีและอี๋) สิบสองปันนา (Xishuangbanna) (ชนชาติไต)   ฉู่สง (Chuxiong) (ชนชาติอี๋) ต้าหลี่ (Dali) (ชนชาติไป๋) เต๋อหง (Dehong) (ชนชาติไตและจิ่งพอ) นู่เจียง (Nujiang) (ชนชาติลีซอ) และตี๋ชิ่ง (Diqing) (ชนชาติทิเบต)

 

มณฑลกุ้ยโจว

ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่
ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “เฉี่ยน” (Qian, 黔) เป็นมณฑลเขตชั้นในที่ไม่มีทางออกทะเล อยู่ที่ราบสูงหยุนกุ้ย (Yungui) มีอาณาเขตติดต่อกับ 3 มณฑล 1 มหานคร และ 1 เขตปกครองตนเอง คือ ทิศเหนือติดกับมณฑลเสฉวน (Sichuan) และมหานครฉงชิ่ง (Chongqing) ทิศใต้ติดกับเขตปกครองตนเองกว่างซี (Guangxi) ทิศตะวันออกติดกับมณฑลหูหนาน (Hunan) และทิศตะวันตกติดกับมณฑลยูนนาน (Yunnan) มีพื้นที่ทั้งสิ้น 176,167 ตารางกิโลเมตร มีสัดส่วน 1.8% ของทั้งประเทศ ร้อยละ 92.5 เป็นภูเขาสูง ความสูงเฉลี่ยเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร จึงได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งขุนเขา จุดสูงสุดเหนือระดับน้ำทะเลสูง 2,900.6 เมตร จุดต่ำสุดเหนือระดับน้ำทะเลสูง 147.8 เมตร

ข้อมูลประชากร

มีประมาณ 35 ล้านคน มีชนกลุ่มน้อยถึง 17 ชนชาติ ตั้งรกรากอยู่ที่บริเวณนี้มานานหลายศตวรรษ
ชนกลุ่มน้อยเชื้อสายต่าง ๆ มีประมาณร้อยละ 35 ของจำนวนประชากรทั้งมณฑล ได้แก่ ชาวฮั่น (Han) แม้ว (Miao) ปู้อี (Buyi) ต้ง (Dong) ถู่เจีย (Tujia) อี๋ (Yi) เป็นต้น

สภาพภูมิอากาศ

อยู่ในเขตมรสุมกึ่งร้อนชื้น สภาพอากาศจึงอบอุ่นและชุ่มชื้น อุณหภูมิตลอดปีโดยเฉลี่ยประมาณ 15 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด ประมาณ 3-6 องศาเซลเซียส และฤดูร้อนอากาศไม่อบอ้าว ประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยระหว่าง 1,100 - 1,300 มิลลิเมตรต่อปี

ทรัพยากรสำคัญ

  • ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ทะเลถ่านหินทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน” มีปริมาณถ่านหินเก็บสำรองประมาณ 5 หมื่นล้านตัน มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ
  • แหล่งไฟฟ้าพลังน้ำที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของจีน มีแม่น้ำอู่เจียง (Wujiang) ไหลผ่านทั่วทั้งมณฑล มีความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำต่อปีจำนวน 2.188 ล้านกิโลวัตต์ ปริมาณการสำรองกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ มีปริมาณ 18.75 ล้านกิโลวัตต์ อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศ
  • ทรัพยากรแร่ธาตุมีมากกว่า 110 ชนิด ที่สำคัญ ได้แก่ ปรอท ฟอสฟอรัส และ Bauxite แมกนีเซียม แมงกานีส และแกลเลียม ถ่านหิน พลวง ทองคำ และ Iron pyrite เป็นต้น

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

แบ่งเป็น 9 เมือง/เขต และ 77 อำเภอ ได้แก่

  • 1 เมืองเอก ได้แก่ นครกุ้ยหยาง (Guiyang)
  • 3 เมือง ได้แก่ เมืองลิ่วผานสุ่ย (Liupanshui) เมืองจุนอี้ (Zunyi) และเมืองอานซุ่น(Anshun)
  • 2 เขต (Prefecture) ได้แก่ เขตปี้เจี๋ย (Bijie) และเขตถงเหริน (Tongren)
  • 3 เขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อย (Autonomous Prefecture) ได้แก่ เขตปกครองตนเองชนชาติแม้วและต้งเฉียนตงหนาน เขตปกครองตนเองชนชาติปู้อีและแม้วเฉียนหนาน และเขตปกครองตนเองชนชาติปู้อีและแม้วเฉียนซีหนาน

 

มณฑลหูหนาน

ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่

ตั้งอยู่ทางตอนกลางของภาคใต้ของจีน มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “เซียง” (Xiang) มีอาณาเขตติดต่อกับ 5 มณฑล และ 1 เขตปกครองตนเอง คือ ทิศเหนือติดกับมณฑลหูเป่ย (Hubei) ทิศใต้ติดกับมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi) ทิศตะวันออกติดกับมณฑลเจียงซี (Jiangxi) ทิศตะวันตกติดกับมณฑลฉงชิ่ง (Chongqing) และมณฑลกุ้ยโจว (Guizhou) มีพื้นที่ทั้งสิ้น 210,000 ตารางกิโลเมตร (ราว 2 ใน 5 ของประเทศไทย) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ของทะเลสาบต้งถิง (Dongting) และพื้นที่ 2 ใน 3 ของหูหนาน เป็นภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก ตะวันตกและภาคใต้ของมณฑล ส่วนทางตอนกลางเป็นพื้นที่ราบสลับกับเขตภูเขา และที่ราบขนาดเล็กรอบทะเลสาบต้งถิงทางภาคเหนือตอนกลางของมณฑล

ข้อมูลประชากร

มีประมาณ 67 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น และร้อยละ 5 เป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งได้แก่ แม้ว (Miao) ถู่เจีย (Tujia) ต้ง (Dong) เย้า (Yao) หุย (Hui) หรือมุสลิม อุยเกอร์ (Uygur) และจ้วง (Zhuang)

สภาพภูมิอากาศ

อยู่ในเขตกึ่งร้อนชื้นตอนกลาง จึงมีภูมิอากาศแบบมรสุม เป็นผลให้ได้รับแสงแดดและฝนตกมาก อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง16-18องษาเซลเซียส โดยอุณหภูมิในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว จะอยู่ระหว่าง 4-8องศาเซลเซียส และในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน จะอยู่ระหว่าง 26-30 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั้งปีของมณฑลหูหนานเท่ากับ1,200-1,700 มิลลิเมตร โดยฝนจะตกมากในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม

ทรัพยากรสำคัญ

  • แหล่งโลหะและอโลหะที่สำคัญของจีน ได้แก่ พลวง แบไรท์ ทังสเตน แมงกานิส วานาเดียม ตะกั่ว สังกะสี ฟลูออไรต์ บิสมัท โมนาไซต์ เป็นต้น
  • มีปริมาณน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน เนื่องจากมีทะเลสาบต้งถิง (Dongting Lake) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อมณฑล “หูหนาน” ที่แปลว่า “ทิศใต้ของทะเลสาบ”
  • ได้สมญานามว่าเป็น “แหล่งผลิตข้าวและปลาน้ำจืดรายใหญ่ของจีน”  และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สุกรอันดับ 2 ของจีน พืชเกษตรที่ติดอันดับต้น ๆ ได้แก่ เม็ดบัว ชา ชาน้ำมัน พริก ป่านรามี ส้ม (柑桔) และผงพริกไทย

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

แบ่งเป็น 13 เมือง 1 เขต 122 อำเภอ ได้แก่

  • 1 นคร ได้แก่ นครฉางซา (Changsha)
  • 12 เมือง ได้แก่ เมืองเย่วหยาง (Yueyang) เมืองจูโจว (Zhuzhou) เมืองเซียงถาน (Xiangtan) เมืองเหิงหยาง (Hengyang) เมืองเซ่าหยาง (Shaoyang) เมืองฉางเต๋อ (Changde) เมืองอี้หยาง (Yiyang) เมืองเฉินโจว (Chenzhou) เมืองหยงโจว (Yongzhou) และเมืองจางเจียเจี้ย (Zhangjiajie) เมืองโหลวตี่ (Loudi) และเมืองหวยฮั่ว (Huaihua)
  • 1 เขตปกครองตนเอง ได้แก่ เขตปกครองตนเองชนชาติถู่เจียและชนชาติแม้ว (Xiangxi Tujia-Miao Nationality Autonomous Prefecture)

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการเมืองเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์  www.thaibizchina.com