บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 7 "เทศกาลไทยในนครคุนหมิง"

บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 7 "เทศกาลไทยในนครคุนหมิง"

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 543 view

วันที่ 8 - 17 พฤษภาคม 2558 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครคุนหมิง สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง สำนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานนครคุนหมิง รวมทั้งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานเทศกาลไทย ณ นครคุนหมิง ประจำปี 2558 ณ ห้างสรรพสินค้าหนานย่า ใจกลางนครคุนหมิง โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

งานเทศกาลไทยกำหนดระยะเวลาในการจัดงานรวมทั้งสิ้นเป็นระยะเวลา 10 วัน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมช่วงสุดสัปดาห์ 2 ครั้ง เพื่อตอบสนองคำเรียกร้องชาวคุนหมิง ที่ต้องการเข้าชมงานเทศกาลไทยได้โดยสะดวกในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ กิจกรรมในงานเทศกาลไทยมีความหลากหลาย อาทิ ดารายอดนิยมไทยในจีน คุณติ๊นา ศุภนาฎ จิตตลีลา พบกับแฟนคลับชาวคุนหมิง การแสดงนาฏศิลป์ไทยโดยนักศึกษาไทยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนักศึกษาไทยในนครคุนหมิง การแกะสลักผักและผลไม้ การวาดระบายสีร่ม(เชียงใหม่) การสาธิตการร้อยพวงมาลัย และการสาธิตการทำขนมไทยจากการสนับสนุนของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครคุนหมิง การแสดงแม่ไม้มวยไทยโดยจากการสนับสนุนของมูลนิธิไทย กระทรวงการต่างประเทศ การออกร้านจำหน่ายอาหารไทย ผลิตภัณฑ์สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) สินค้าตกแต่งบ้าน อัญมณี สปาไทย ยาสมุนไพรไทย เป็นต้น

งานเทศกาลไทย ณ นครคุนหมิง นั้นเป็นงานประจำปีที่สำคัญของนครคุนหมิง โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดงานต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 7 ปีแล้ว ถือเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวคุนหมิง ผู้ซึ่งนิยมมาเที่ยวชมงานเทศกาลไทย เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพดี ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ อัญมณี สินค้าตกแต่งบ้าน รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ของไทย ซึ่งถือเป็นของดีและของเด่นจาก 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร

ภายในงานเทศกาลไทยพบว่าบูธร้านอาหารไทยนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผัดไทย ไก่ย่าง ส้มตำ ยำวุ้นเส้น ข้าวเหนียวมะม่วง หรือแม้แต่น้ำมะม่วง อีกทั้งเครื่องปรุง เครื่องแกง และวัตถุดิบในการทำอาหารไทยก็เป็นที่นิยมตามไปด้วย ผลไม้ไทยเองก็ขายดีไม่แพ้กัน โดยผลไม้ยอดนิยมของผู้บริโภคจีน คือ ทุเรียน ซึ่งต้องทานคู่กับ มังคุด (ทานทุเรียนมากไปก็จะร้อนใน ขณะที่มังคุดจะมีสรรพคุณแก้ร้อนใน) ขนุน สละหรือระกำ กล้วยไข่ ส้มโอ มะม่วง ลำไย (น้ำลำไยบรรจุขวด) มะพร้าวเผา ซึ่งดื่มน้ำและทานเนื้อมะพร้าวได้อีกด้วย นอกจากนี้ ขนมขบเคี้ยวทานเล่นที่แปรรูปจากทุเรียนล้วนขายได้ดีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนอบแห้ง ทุเรียนกวน คุกกี้ทุเรียน ทองม้วนทุเรียน เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ ข้าวเกรียบกุ้งหน้าหมูหยอง ก็เป็นสินค้าดาวเด่นของงาน เนื่องจากมีรสชาติถูกปากและถูกใจผู้บริโภคชาวจีนที่ชอบขนมที่มีความกรุบกรอบ หอม หวาน และมันอยู่ในระดับพอดี รวมถึงข้าวตังหน้าหมูหยองเองก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน แต่เพราะความแปลกใหม่ของข้าวเกรียบกุ้งหน้าหมูหยอง จึงทำให้ได้รับกระแสการตอบรับที่เป็นพิเศษ

ดังนั้น จากที่กล่าวมาสามารถกล่าวได้ว่า ขนมชนิดต่างๆ ของไทยมีโอกาสอย่างมากที่จะทำตลาดในประเทศจีน โดยในขั้นตอนแรกควรนำเสนอผ่านงานเทศกาลไทยเพื่อเป็นจุดผ่านทาง ต่อมาเมื่อชาวจู้บริโภคชาวจีนรู้จักขนมไทยมากขึ้นแล้ว ก็จะมีโอกาสขายสินค้าเหล่านี้ให้กับผู้ประกอบการจีนได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านทาง E-Commerce หรือมีผู้ประกอบการจีนมาเจรจาขอเป็นผู้แทนจำหน่ายหรือผู้นำเข้า

กระแสนิยมไทยในนครคุนหมิง (หรือมณฑลยูนนาน ซึ่งคือมณฑลทางตอนใต้สุดของประเทศจีน) มีอยู่อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในงานเทศกาลไทย ซึ่งได้รับความนิยมและกลายเป็นงานสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากทางการจีนโดยนครคุนหมิงและมณฑลยูนนาน ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานการต่างประเทศ นครคุนหมิง เป็นผู้ร่วมสนับสนุนและจัดงานเทศกาลไทยอีกด้วย

ผลสำเร็จจากการจัดงานเทศกาลไทย ได้เป็นประสบการณ์ตอกย้ำความมั่นใจและสร้างกำลังใจให้ผู้ประกอบการไทย ให้มีความเชื่อมั่นในสินค้าของตนเองมากขึ้น ว่าสินค้าไทยสามารถเป็นสินค้ายอดนิยมของผู้บริโภคชาวจีนได้โดยไม่ยาก หากใส่ใจในคุณภาพ ความปลอดภัย ความทันสมัยของบรรจุภัณฑ์ การตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนที่ชอบของอร่อย ไม่ชอบขนมหวานชนิดหวานเจี๊ยบ รสชาติที่เข้มข้นเกินไป และเค็มเกินไป แต่นิยมขนมไทยรสกลมกล่อมที่มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นเทียนอบ หรือกลิ่นใบเตย เป็นต้น

ตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญ และเป็นตลาดในอนาคตที่ต้องให้ความใส่ใจ ดังนั้นจึงต้องให้ความสนใจที่ตลาดจีน ซึ่งมีประชากรในปัจจุบัน ไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านคน หากผู้ประกอบการไทยลองจินตนาการว่าผู้ประกอบการใดมีสินค้าไทยที่ถูกใจและถูกจริตผู้บริโภคชาวจีนเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือเพียงครึ่งเปอร์เซ็นต์จะเกิดขึ้นอะไรขึ้นในอนาคต