บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 1 เจาะยุทธศาสตร์ มองศักยภาพยูนนาน โอกาสในภาคตะวันตกจีน

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 1 เจาะยุทธศาสตร์ มองศักยภาพยูนนาน โอกาสในภาคตะวันตกจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 669 view

ปัจจุบัน รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคตะวันตกของจีนเป็นอย่างมาก การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 18 ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2556 นั้น จีนได้กำหนดทิศทางการพัฒนาในระยะยาว (10 ปี) อาทิ กำหนดเป้าหมายด้านเศรษฐกิจในการเปิดตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น การอนุญาตให้เงินทุนจากต่างประเทศสามารถเข้ามาในจีนได้สะดวกยิ่งขึ้น และการเร่งสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในจีนให้มากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัว โดยในปี 2555 ขยายตัวเพียงร้อยละ 7.8  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเริ่มเข้าสู่จุดอิ่มตัว มณฑลภาคตะวันตกได้กลายเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจจีนเดินหน้าต่อไป

วิเคราะห์ เจาะยุทธศาสตร์ยูนนาน

จากมุมมองมหภาคระดับประเทศ หันมามองในระดับมณฑลว่า มณฑลยูนนานได้เตรียมความพร้อมอะไรไว้บ้างจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 (2554-2558) ของมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์หัวสะพานได้กำหนดให้มณฑลยูนนานเป็นประตูเชื่อมภาคตะวันตกของจีน ไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ เป็นการเปิดประเทศทางภาคตะวันตกของจีน เน้นประเด็นสำคัญๆ อาทิ

(1) การขยายความร่วมมือกับต่างประเทศ และต่างมณฑล ตัวอย่างที่เด่นชัดได้แก่ เมื่อวันที่ 6-9 มิถุนายน 2556 รัฐบาลมณฑลยูนนานได้จัดงาน China-South Asian Expo ครั้งที่ 1 ขึ้น ณ นครคุนหมิง โดยเป็นการยกระดับงานแสดงสินค้า Kunming Fair ที่จัดต่อเนื่องมา 21 ปี และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอยู่แล้ว ให้เป็นงานยักษ์ระดับภูมิภาค โดยได้รับความสนใจจากภาครัฐ และเอกชนภายในประเทศจีน รวมถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ เป็นอย่างดี

(2) ส่งเสริมการพัฒนาการเชื่อมโยงทางคมนาคมกับต่างประเทศ เพื่อเป็นช่องทางออกสู่ทะเล ส่งเสริมการค้า และการท่องเที่ยว อาทิ   

- สนามบินนานาชาติฉางสุ่ยคุนหมิง ซึ่งเริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555 โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 38 ล้านคน ในอนาคตจะขยายให้รองรับผู้โดยสารได้ปีละ 60 ล้านคน เป็นสนามบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน รองจากสนามบินปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว นอกจากนี้ มณฑลยูนนานยังมีสนามบินในหัวเมืองอื่นๆ อีก 11 แห่ง ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงการคมนาคมทางอากาศภายในมณฑล และกับต่างมณฑล โดยมีโครงการขยายสนามบินให้ครอบคลุมทุกเมืองของมณฑลยูนนาน รวมถึงขยายสนามบินเดิมให้ใหญ่ขึ้น

- เส้นทางรถไฟเชื่อมโยงต่างประเทศ 4 สาย ซึ่งอยู่ในแนวเดียวกับเส้นทางรถไฟ Singapore-Kunming Rail Link (SKRL) ได้แก่ จีน-เวียดนาม จีน-ลาว-ไทย จีน-เมียนมาร์ และจีน-เมียนมาร์-อินเดีย รวมถึงเส้นทางรถไฟระหว่างมณฑล 8 สาย เกิดเป็นเครือข่ายการคมนาคมระบบรางที่สมบูรณ์แบบ และมีต้นทุนขนส่งต่ำ เพื่อรองรับการขนส่งประชาชน และสินค้าที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

- ทางด่วนเชื่อมระหว่างประเทศ 4 สาย ได้แก่ คุนหมิง-เหอโข่ว (เชื่อมเวียดนาม) คุนหมิง-บ่อหาน (R3A เชื่อมลาว-ไทย) คุนหมิง-รุ่ยลี่ (เชื่อมเมียนมาร์) และคุนหมิง-เถิงชง (เชื่อมเมียนมาร์-อินเดีย) นอกจากนี้ ยังมีทางหลวงเชื่อมระหว่างมณฑล 7 สาย โดยถือได้ว่า มณฑลยูนนานมีเส้นทางถนนที่มีความพร้อมสูง โดย ณ สิ้นปี 2553 ยูนนานมีทางหลวงรวม 209,000 กิโลเมตร และทางด่วน 2,630 กิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างทางหลวงเพิ่มเป็น 223,000 กิโลเมตร และทางด่วนเพิ่มเป็น 4,500 กิโลเมตร ภายในปี 2558

- ท่าเรือกวนเหล่ย เป็นท่าเรือแห่งแรกของมณฑลยูนนานเมื่อล่องเรือจากแม่น้ำโขงขึ้นไป เป็นจุดที่มีพรมแดนติดลาว และเมียนมาร์ ปัจจุบันเป็นท่าเรือหลักสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีนทางแม่น้ำโขง

(3) มีเป้าหมายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากต่างมณฑล 1 ล้านล้านหยวน ภายในแผนฯ ฉบับที่ 12 โดยรัฐบาลมณฑลยูนนานได้จัดโรดโชว์เพื่อดึงดูดการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตามนโยบาย “ดึงดูดทุนขนาดใหญ่” โดยมีกรุงปักกิ่ง เจ้อเจียง เสฉวน กวางตุ้ง และฝูเจี้ยน เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุด โดยธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมที่พัก มีผู้สนใจลงทุนมากที่สุด

ส่วนทุนต่างชาตินิยมลงทุนในนครคุนหมิงมากที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 65 ของเงินลงทุนต่างประเทศทั้งหมดที่ลงทุนในมณฑลยูนนาน ซึ่งธุรกิจที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจการท่องเที่ยว ลิสซิ่งและบริการ และอุตสาหกรรมการผลิต

(4) พัฒนาเขตความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนที่รุ่ยลี่ (เชื่อมกับเมียนมาร์) บ่อหาน (เชื่อมกับลาว)  และเหอโข่ว (เชื่อมกับเวียดนาม) และการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมภาคกลางมณฑลยูนนาน ประกอบด้วย 7 อำเภอ ใน 4 เมือง โดยมีนครคุนหมิงเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของมณฑลยูนนาน

   จากการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งของจีน คาดการณ์ว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าในนครคุนหมิงจะเพิ่มจาก 137 ล้านตันในปี 2553 เป็น 323 ล้านตันในปี 2563 โดยในปัจจุบัน มีปริมาณการขนส่งประมาณ 170 ล้านตัน ยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ของนครคุนหมิง ถูกกำหนดขึ้นให้มีความสอดคล้องกับการพัฒนาการเชื่อมโยงทางคมนาคม ของมณฑลยูนนาน กล่าวคือ นครคุนหมิงมีเขตโลจิสติกส์ 5 แห่ง โดยแบ่งเป็น

แนวเหนือ-ใต้ ได้แก่

- เขตโลจิสติกส์จิ้นหนิง เชื่อมเส้นทางรถไฟและทางด่วนสู่ลาวและเวียดนาม คือ เส้นทางคุนหมิง-บ่อหาน เชื่อมลาว-ไทย และเส้นทางคุนหมิง-เหอโข่ว เชื่อมเวียดนาม พื้นที่โครงการแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) international land port พื้นที่ประมาณ 2,000 หมู่ (ประมาณ 830 ไร่) สามารถรองรับการขนส่งประมาณ 16 ล้านตัน/ปี และ (2) ศูนย์การค้านานาชาติ พื้นที่ประมาณ 1,500 หมู่ (ประมาณ 670 ไร่)

- เขตโลจิสติกส์หวังเจียหยิง ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่อำเภอเฉิงก้ง และครอบคลุมพื้นที่ Kunming Economic and Technological Development Zone เป็นเครือข่าย Railway Container Center Station 1 ใน 18 แห่งของจีน และเป็นชุมทางรถไฟแห่งเดียวของยูนนานที่เชื่อมการขนส่งกับ “เส้นทางรถไฟภายในประเทศของยูนนาน 8 สาย และเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ 4 สาย”

- เขตโลจิสติกส์สนามบินฉางสุ่ย รองรับการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ทางอากาศปีละ 1 ล้านตัน

- เขตโลจิสติกส์ซงหมิง เป็นเขตสินค้าทัณฑ์บน สามารถขยายไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนานผ่านเมืองจาวทง เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคตได้และสามารถเชื่อมสู่มณฑลเสฉวน ฉงชิ่ง และปักกิ่งต่อไป

แนวตะวันออก-ตะวันตก ได้แก่

- เขตโลจิสติกส์อานหนิง เอเชียใต้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของนครคุนหมิง คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จปี 2559 ทิศตะวันตกเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟแพนเอเชียสายตะวันตก (คุนหมิง-เมียนมาร์) และทิศตะวันออกเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ เขตโลจิสติกส์อานหนิงยังเป็นเส้นทางผ่านของท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาร์ โดยท่อน้ำมันซึ่งมีกำลังขนส่งปีละ 22 ล้านตันและท่อก๊าซธรรมชาติมีกำลังขนส่งปีละ 12,000 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ รัฐบาลนครคุนหมิงมีแผนก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันที่เมืองอานหนิง ซึ่งจะมีขีดความสามารถกลั่นน้ำมันได้ปีละ 10 ล้านตัน

รู้ศักยภาพยูนนานไว้ ไม่พลาดโอกาสดี

ทิศทางการพัฒนาข้างต้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานศักยภาพเชิงเศรษฐกิจของมณฑลยูนนาน ที่ครอบคลุมทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ดังนี้

- มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2555 ร้อยละ 12.4 สูงเป็นอันดับ 2 ของจีน มี GDP มากกว่า 1 ล้านล้านหยวน ถือเป็นครั้งแรกที่ GDP ของมณฑลยูนนานทะลุหลักล้านล้านหยวน และเป็นมณฑลที่ 24 ของจีนที่มี GDP ระดับ 1 ล้านล้านหยวน

- มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ อาทิ มีพื้นที่ปลูกยาสูบและผลิตยาสูบมากเป็นอันดับ 1 ของจีน มีพื้นที่ปลูกและผลิตกาแฟมากเป็นอันดับ 1 มีพื้นที่ปลูกชามากเป็นอันดับ 1 และผลิตชาผูเอ่อร์ได้มากเป็นอันดับ 1 ของจีน

- มีพื้นที่ปลูกและผลิตดอกไม้ตัดสดมากเป็นอันดับ 1 ของจีน

- มีแร่สังกะสี และแร่ตะกั่วมากเป็นอันดับ 1 มีแร่ดีบุกและแร่ฟอสฟอรัสมากเป็นอันดับ 2 มีแร่ทองแดงมากเป็นอันดับ 3 และถ่านหินมากเป็นอันดับ 8 ของจีน

- มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนมากเป็นอันดับ 2 และมีอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์อันดับ 3 ของจีน

- มีท่อส่งน้ำมัน (ปีละ 22 ล้านตัน) และท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (ปีละ 1.2 หมื่นล้าน ลบ.ม.) จีน-เมียนมาร์

- มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง เป็นแหล่งรายได้สำคัญของมณฑล เมื่อปี 2555 มีนักท่องเที่ยวชาวจีน 196.3 ล้านคน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4.58 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 170,250 ล้านหยวน และตั้งเป้าหมายในปี 2556 ไว้ที่ 2 แสนล้านหยวน

- มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมชนชาติมากที่สุดในจีน จำนวน 26 ชนชาติ มีแหล่งท่องเที่ยวระดับ 5Aจำนวน 6 แห่ง และมีมรดกโลก 5 แห่ง

เมื่อจีนกำลังเปิดประเทศทางภาคตะวันตก ซึ่งมีประชากรรวม 500 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37 ของประชากรจีนทั้งประเทศ ผลผลิตมวลรวม (GDP) ของทั้ง 12 มณฑลภาคตะวันตกมากกว่า 11 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 22 ของ GDP ของจีน เพื่อเร่งพัฒนาให้มีเจริญทัดเทียมภาคตะวันออก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของภาคเอกชนไทยที่จะใช้มณฑลยูนนาน ในฐานะประตูเชื่อมระหว่างภาคตะวันตกของจีน กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยขอให้สื่อต่างๆ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนไทยได้รับทราบข้อมูล และใช้โอกาสจากนโยบายและยุทธศาสตร์ข้างต้น เพื่อขยายช่องทางด้านการค้า การลงทุนในมณฑลยูนนานต่อไป