บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 14 "ไทยกับการเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคเพื่อรองรับนักศึกษาจีน"

บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 14 "ไทยกับการเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคเพื่อรองรับนักศึกษาจีน"

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ย. 2565

| 684 view

ตั้งแต่จีนเริ่มเปิดประเทศในปี 2521 เศรษฐกิจและสังคมได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการพัฒนาดังกล่าวคือ การเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศของประชาชนจีน โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ซึ่งบุคคลเหล่านั้นก็ได้นำความรู้ความสามารถและวิทยาการใหม่ๆ กลับมาช่วยพัฒนาประเทศ

จำนวนประชาชนจีนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ ปี 2545 เป็นปีแรกที่จำนวนชาวจีนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศต่อปีทะลุหลักแสนคน

โดยตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา จีนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรไปศึกษาต่อต่างประเทศมากที่สุดในโลก รวมตัวเลขชาวจีนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2556 ทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านคน

โอกาสในการพัฒนาภาษาต่างประเทศและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ การเปิดโลกทัศน์ และลู่ทางในการทำงานในต่างประเทศ เป็นปัจจัยภายนอกที่ดึงดูดให้ชาวจีนจำนวนมากเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาของจีนที่สร้างความเครียดและความกดดันอย่างหนักให้แก่นักเรียน โดยเฉพาะการสอบแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการแข่งขันสูงมาก เป็นปัจจัยภายในที่ผลักดันให้นักเรียนจีนที่มีความรู้ความสามารถและมีกำลังทรัพย์ตัดสินใจเลือกเดินทางออกไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

สถาบันแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ Xin Quan Education ของจีนได้รายงานว่า ปี 2555 ชาวจีนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโทครองสัดส่วนร้อยละ 62.8 ของจำนวนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ปี 2556 สัดส่วนชาวจีนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโทลดลงเหลือร้อยละ 52.7 ในขณะที่สัดส่วนชาวจีนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาตรีเพิ่มจากร้อยละ 21.1 เป็น 31.2 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มจากร้อยละ 1.2 เป็น 4.3 สะท้อนว่า อายุของชาวจีนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง โดยมีจุดหมายปลายทาง 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์

สถาบันอุดมศึกษาของไทยมีความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษาของจีนมาเป็นระยะเวลายาวนาน รวมถึง การลงนามบันทึกความเข้าใจ/ความตกลงระหว่างสถาบันการศึกษาของไทย-จีน เพื่อส่งเสริม/สนับสนุนการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา การวิจัยร่วม การรับโอนหน่วยกิต และการเปิดหลักสูตรร่วม และการเข้าร่วมงานแนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศในจีนของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เชียงใหม่ ม.แม่ฟ้าหลวง และ ม.กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นพิเศษระหว่างไทย-จีน ความโอบอ้อมอารีของคนไทยที่ให้การต้อนรับขับสู้ชาวต่างชาติเป็นอย่างดี และโอกาสให้การทำงานหรือประกอบธุรกิจ ส่งผลให้การศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยเป็นที่รู้จักและเป็นทางเลือกหนึ่งที่นักศึกษาจีนให้ความสนใจ เห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่งมีนักศึกษาจีนเป็นนักศึกษาต่างชาติกลุ่มหลัก อาทิ ม.อัสสัมชัญ และ ม.แม่ฟ้าหลวง

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มของชาวจีนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศมีอายุลดลง การศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือมัธยมศึกษาตอนปลายจึงเป็นตลาดที่ประเทศไทยควรให้ความสนใจ เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบและความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในการดึงดูดนักเรียนจีนให้มาศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย ดังต่อไปนี้

1. ประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติที่มีคุณภาพจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองสำคัญ อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต ซึ่งมีบรรยากาศและระบบการศึกษาเป็นนานาชาติอย่างแท้จริง

2. ไทย-จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นพิเศษ ดังคำกล่าวว่า “ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

3. ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวจีน มีวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม อาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ และคนไทยมีความโอบอ้อมอารี

4. ประเทศไทยอยู่ใกล้กับจีน สะดวกทั้งสำหรับนักเรียน และผู้ปกครองซึ่งต้องการเดินทางมาดูแลบุตรหลาน รวมทั้งสามารถท่องเที่ยวได้ในโอกาสเดียว และมีอัตราค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว

ปัจจุบัน โรงเรียนนานาชาติหลายแห่งเริ่มมีนักเรียนจีนเพิ่มมากขึ้น ทั้งกลุ่มที่ติดตามผู้ปกครองซึ่งเดินทางมาทำงานหรือทำธุรกิจในประเทศไทย และกลุ่มที่เดินทางมาศึกษาโดยตรง ทั้งนี้ บริษัทนำเที่ยวของจีนเริ่มมีการจัดทัวร์เยี่ยมชมโรงเรียนนานาชาติของไทย เพื่อให้ผู้ปกครองมีโอกาสดูสถานที่จริง ก่อนตัดสินใจเลือกสถานศึกษาที่เห็นว่าดีที่สุดให้แก่บุตรหลาน

รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้านการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการศึกษา และการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา(Education Hub) ในภูมิภาคอาเซียน

โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาให้มีความเป็นนานาชาติ พร้อมรองรับนักเรียนไทย และนักเรียนต่างชาติในประชาคมอาเซียน ตลอดจนนโยบายเปิดเสรีทางการศึกษา ซึ่งในอนาคต โรงเรียนเหล่านี้สามารถเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนจีน นอกเหนือจากโรงเรียนนานาชาติของไทย

ความเป็นนานาชาติในประเทศไทยที่จะเพิ่มมากขึ้นภายหลังการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 สะท้อนถึงโอกาสหลายด้าน อาทิ การศึกษา การทำงาน การค้าและลงทุน ซึ่งจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการศึกษาที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองชาวจีน

บทความนี้เขียนโดยนายสุชาติ เลียงแสงทอง กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง