บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 6 ชี้ช่องโอกาสธุรกิจไทยในยูนนาน

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 6 ชี้ช่องโอกาสธุรกิจไทยในยูนนาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 489 view

นับตั้งแต่ประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างกันในปี 2518 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 38 ปี ทั้งสองประเทศได้พัฒนาความสัมพันธ์ และความร่วมมือในสาขาต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ การค้า การศึกษา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว จนแน่นแฟ้นขึ้นโดยลำดับ และจะเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืนต่อไป

ประเด็นความร่วมมือที่เด่นชัดที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องการค้าทวิภาคี อ้างอิงตัวเลขการค้าระหว่างไทย-จีน 3 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 2553-2555 ของธนาคารกสิกรไทย พบว่า ปี 2553 มีมูลค่าประมาณ 46,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40) ปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 57,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 24) และปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 64,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 13) ซึ่งยังคงขยายตัว อย่างต่อเนื่อง แม้จะขยายตัวในอัตราที่ลดลงบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า สถาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนไม่ได้ร้อนแรงเหมือนหลายปีที่ผ่านมา เป็นผลกระทบอันเนื่องมาจากวิกฤติทางการเงิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

แต่ความร่วมมืออีกหนึ่งสาขา ซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวถึงกันเป็นอย่างมากในชั่วโมงนี้ และเป็นประเด็นที่บทความฉบับนี้ให้ความสำคัญ ก็คือ ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นอกจากจะมีข้อมูลและสถิติน่าสนใจมานำเสนอให้ผู้อ่านแล้ว ยังจะชี้ช่องโอกาสธุรกิจไทยในมณฑลยูนนานให้ด้วย

ไท่จง (Lost in Thailand) มาถูกจังหวะ แรงส่งจีนเที่ยวไทยกระฉูด

จากการที่ประเทศจีนมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ประชาชนจีนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น สัดส่วนของชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้น หมายถึงการมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ฐานะที่ดีขึ้น ต้องแลกมาด้วยความเครียดและความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนัก ประเทศที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ทำให้สังคมจีนมีการแข่งขันสูง เมื่อมีเงินแล้วก็ย่อมต้องการที่จะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิต การเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจในต่างประเทศจึงเป็นที่นิยมของคนจีน

เสน่ห์ของคนไทยที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีอัธยาศัยดี ธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ ประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมที่ทรงคุ้มค่าและงดงาม อาหารไทยและผลไม้ไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก และสำคัญที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวจีน ที่เห็นเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ ก็คือ “ความคุ้มค่า” โดยนักท่องเที่ยวสามารถดื่มด่ำกับความสุขในการมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ทั้งกิน เที่ยว ช็อป พัก อย่างที่ประเทศอื่นๆ ไม่สามารถให้ได้ ทำให้ในช่วงวันหยุดตรุษจีน วันชาติจีน และวันหยุดอื่นๆ ของจีน เราจะพบเห็นนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่ติดอันดับโลกของไทย อาทิ กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ สถิตินักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ระหว่างปี 2553-2555 (ธนาคารกสิกรไทย) พบว่า ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 1 ล้านคน (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 45) ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 1.7 ล้านคน (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 58) และปี 2555 มีจำนวนประมาณ 2.8 ล้านคน (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 62)

เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนของปี 2555 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 กว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์จากภาพยนตร์จีนเรื่อง ไท่จง (Lost in Thailand) ภาพยนต์แนวคอมเมดี้ ที่ไปถ่ายทำที่ประเทศไทยกว่าร้อยละ 90 ซึ่งเข้าฉายในประเทศจีนในช่วงปลายปี 2555 ก่อให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวไทยอย่างร้อนแรงในหมู่ชาวจีน และส่งผลต่อเนื่องมายังปี 2556

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยในปี 2556 มากกว่า 4 ล้านคน โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 (ม.ค.-ก.ย. 2556) มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยแล้วประมาณ 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 93 เมื่อรวมตัวเลขทั้งปี คาดว่าจะทะลุเป้าหมายที่ ททท. ตั้งเอาไว้ได้ไม่ยาก

 

ทัวร์ไหว้เจ้า ทัวร์เยี่ยมญาติ ทัวร์ช็อปปิ้ง ฯลฯ ไทยก็เที่ยวจีนไม่น้อย

สถิตินักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางเข้ามายังประเทศจีน ระหว่างปี 2553-2555 (ธนาคารกสิกรไทย) พบว่า ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 6.4 แสนคน (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 17.3) ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 6.1 แสนคน (ลดลงประมาณร้อยละ 4) และปี 2555 มีจำนวนประมาณ 6.5 แสนคน (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.5)

แม้จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่มาจีนมีน้อยกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย แต่ก็ถือได้ว่ามีความเสถียรค่อนข้างสูง โดยรักษาระดับไว้ที่จำนวนปีละประมาณ 6 แสนคนอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ยังมีช่องว่างในการขยายตลาดได้อีกมากในอนาคต

สาเหตุที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวประเทศจีนจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศปีละประมาณ 5-6 ล้านคน เป็นเพราะทัศนคติที่ไม่ดีต่อการท่องเที่ยวในประเทศจีนที่เกิดจากเล่าสู่กันฟังในหมู่คนไทย และกลายเป็นมุขตลกล้อเลียนประเทศจีน จนทำให้คนไทยบางกลุ่มไม่กล้าเดินทางไปเที่ยวในประเทศจีน อาทิ การถ่มน้ำลาย การตะโกนโหวกเหวก การเบียดเสียดแซงคิว และปัญหาห้องน้ำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็ได้รับการแก้ไข และลดน้อยลงไปแล้ว

โฟกัสการท่องเที่ยวในยูนนาน

นครแห่งฤดูใบไม้ผลิ (City of Eternal Spring) เป็นสมญานามของนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ซึ่งถือเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของชาวต่างชาติ รวมทั้งชาวจีนเอง นอกจากอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นจุดเด่นของมณฑลยูนนานที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากมาเยือนแล้ว มณฑลยูนนานยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมชนชาติมากที่สุดในจีน โดยมีชนกลุ่มน้อย 25 ชนชาติ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของชนกลุ่มน้อยทั้งหมดของจีน 55 ชนชาติ (ไม่รวมจีนฮั่น)

นอกจากนี้มณฑลยูนนานยังมีแหล่งท่องเที่ยวระดับ 5A จำนวน 6 แห่ง มากเป็นอันดับ 1 ในภาคตะวันตกของจีน ประกอบด้วย อุทยานป่าหิน (คุนหมิง) ภูเขาหิมะมังกรหยก (ลี่เจียง) เมืองโบราณลี่เจียง (ลี่เจียง) เจดีย์ 3 องค์ (ต้าหลี่) สวนพฤษศาสตร์ (เขตฯ สิบสองปันนา) และอุทยานแห่งชาติผู่ต๋าช่อ (แชงกรีล่า) และมีมรดกโลก 5 แห่ง ประกอบด้วย มรดกโลกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณลี่เจียง มรดกโลกทางธรรมชาติเขตอนุรักษ์แม่น้ำ 3 สาย มรดกโลกทางธรรมชาติป่าหิน มรดกโลกทางธรรมชาติเขตฟอสซิลเมืองเฉิงเจียง และมรดกโลกทางวัฒนธรรมนาขั้นบันไดชนชาติฮาหนี

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่มณฑลยูนนาน ในปี 2555 มณฑลยูนนานมีนักท่องเที่ยวชาวจีน 196.3 ล้านคน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4.58 ล้านคนโดยตลอดปี 2555 มณฑลยูนนานมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.7 แสนล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.5 ของ GDP และในปี 2556 มณฑลยูนนานกำหนดเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวไว้มากกว่า 2 แสนล้านหยวน

ในจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของมณฑลยูนนาน เป็นนักท่องเที่ยวไทยประมาณ 4.2 แสนคน มากเป็นอันดับ 1 (ข้อมูลจาก สนง.การท่องเที่ยวมณฑลยูนนาน) โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไทยมากที่สุดคงหนีไม่พ้นป่าหิน ต้าหลี่ ลี่เจียง แชงกรีล่า และสิบสองปันนา

เมื่อมณฑลยูนนานมีความแข็งแกร่งด้านการท่องเที่ยวถึงเพียงนี้ เราจะมาติดตามกันต่อในบทความซอกแซก-ชี้ช่องโอกาสธุรกิจไทยในยูนนาน/คุนหมิง ตอนที่ 2 ว่า โอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ซ่อนอยู่คืออะไร และผู้ประกอบการไทยจะใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ได้อย่างไร