บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 12 สินค้าไทยเจาะตลาดจีน แข่งถูก...เรื่องยาก แข่งคุณภาพ...สู้ได้ชัวร์

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 12 สินค้าไทยเจาะตลาดจีน แข่งถูก...เรื่องยาก แข่งคุณภาพ...สู้ได้ชัวร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 482 view

“ความปลอดภัยด้านอาหาร” เป็นประเด็นที่ชาวจีนให้ความสนใจอย่างมากในระยะหลายปีมานี้ โดยเฉพาะภายหลังจากมีการตีแผ่กระบวนการผลิตอาหารปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน อาทิ นมผงปนเปื้อนสารเมลามีน ไข่ไก่ปลอม น้ำมันพืชปลอม กุนเชียงปลอม ซีอิ๊วปลอม และสินค้าอีกหลากหลายประเภทที่ยังไม่ได้ถูกเปิดโปง ซึ่งล้วนมีส่วนผสมเป็นสารเคมีมีพิษ และวัตถุดิบหมดอายุ โดยผ่านกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง สามารถส่งผลให้เกิดผลเสียอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว ปัญหา “ความปลอดภัยด้านอาหาร” ยังส่งผลกระทบอย่างมากในเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศที่มีต่อสินค้าที่ผลิตในจีนเอง เช่น พ่อแม่ไม่กล้าที่จะซื้อนมผงเด็กของจีนให้ลูกทาน ต้องขวนขวายหาซื้อนมผงนำเข้าจากต่างประเทศ เกิดกระบวนการลักลอบนำเข้านมผงเด็กจากฮ่องกง จนเกิดปัญหานมผงในฮ่องกงขาดแคลนตามมา

หรือแม้กระทั่งผู้บริโภคในต่างประเทศก็ตื่นตระหนกกับกระแสข่าวเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้าที่ผลิตในจีน เพราะสินค้าราคาถูกหลายประเภทจากจีนได้ถูกผู้ประกอบการหัวใสในแต่ละประเทศนำเข้ามาจำหน่ายเป็นเวลานานแล้ว จึงเห็นได้ว่า “ความปลอดภัยด้านอาหาร” ไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาแก่ชาวจีนในประเทศผู้ผลิตสินค้าอันตรายเหล่านี้เองเท่านั้น แต่เราๆ ท่านๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกแห่งโลกาภิวัฒน์ใบนี้ ก็อาจจะได้รับผลกระทบได้โดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้

อย่างไรก็ได้ สำหรับผู้ที่มองการณ์ไกลย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่ในทุกปัญหา บทความนี้จะชี้ช่องโอกาสให้เห็นว่า ท่ามกลางปัญหา “ความปลอดภัยด้านอาหาร” ผู้ประกอบการไทยจะทำอย่างไรในการนำสินค้าไทยเข้ามาเจาะตลาดจีน แบ่งเค้กในตลาดที่มีกำลังบริโภคขนาดมหึมาแห่งนี้

รัฐบาลจีนเอาจริง ปรับกฎใหม่ ฉลากละเอียดยิบ

การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับฉลากอาหารถูกนำมาใช้เพื่อการนี้ โดยตั้งแต่เดือน เม.ย. 2555 กระทรวงสาธารณสุขจีนได้บังคับใช้ “กฎทั่วไปว่าด้วยมาตรฐานการทำฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ GB7718-2011” (预包装食品标签通则) ซึ่งปรับปรุงจากกฎฉบับปี 2547 (GB7718-2004) บังคับใช้กับฉลากผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดที่แยกบรรจุ (ขวด ถุง กล่อง ฯลฯ) เพื่อจำหน่ายในจีน รวมถึง “สินค้าแบรนด์ต่างประเทศ” ที่ผลิตในจีนด้วย โดยมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ดังนี้

- แยก “ประเภท” ของผลิตภัณฑ์อาหารชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ (1) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงจำหน่ายในร้าน (เช่น ขนมปังที่ขายในร้านเบเกอรี่ ม็อคค่าปั่นที่ชงสดๆ ในร้านกาแฟ และอาหารที่ขายในร้านอาหาร เป็นต้น) (2) วัตถุดิบเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งจากโรงงานถึงโรงงาน รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ขายในปริมาณมากเพื่อนำไปแบ่งขายหรือผลิตต่อ และ (3) ผลิตภัณฑ์อาหารที่แยกบรรจุเป็นหน่วย (ขวด ถุง กล่อง ฯลฯ) เพื่อขายให้ผู้บริโภคเป็นหน่วยสุดท้าย หรือ “end-user” ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่กฎฉบับนี้บังคับใช้

- ให้คำจำกัดความของ "วันที่ผลิต" ว่าหมายถึง “วันที่ทำการบรรจุอาหารลงในบรรจุภัณฑ์หน่วยนั้น” เพื่อจำหน่ายยังผู้บริโภคหน่วยสุดท้าย

- กำหนดศัพท์มาตรฐานให้ใช้ในการเรียกวัตถุปรุงแต่งอาหาร เช่น น้ำมันที่สกัดจากพืช แป้งสตาร์ช วัตถุปรุงแต่งรส น้ำผลไม้และเนื้อผลไม้แห้ง วัตถุปรุงแต่งกลิ่นอื่นๆ

- กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับข้อมูลผู้ผลิตที่ต้องสำแดง โดยข้อมูลภาคบังคับที่จำเป็นต้องมี คือ ชื่อ ที่อยู่ วิธีการติดต่อบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีน และประเทศแหล่งกำเนิด (Country of Origin) ทั้งนี้ ในส่วนของวิธีการติดต่อผู้ผลิต จะระบุหรือไม่ก็ได้ (อาทิ ในกรณีที่เป็นสินค้านำเข้าจากไทยโดยตรง จะระบุถึงวิธีการติดต่อผู้ผลิตในไทยหรือไม่ก็ได้ไม่ว่ากัน)

- เพิ่มเติมมาตรฐานในส่วนของความสูงของตัวอักษร และสัญลักษณ์ รวมถึงตัวเลขบนบรรจุภัณฑ์ กล่าวคือ หากพื้นที่บรรจุภัณฑ์มีขนาดตั้งแต่ 35 ตร.ซม.ขึ้นไป ขนาดของสิ่งเหล่านี้ต้องไม่น้อยกว่า 1.8 มิลลิเมตร

- เพิ่มเติมข้อกำหนดให้สลากต้องมีข้อมูลอย่างชัดเจนหากผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของ สิ่งที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น พืชตระกูลข้าวสาลี สัตว์มีเปลือกหรือกระดอง ปลา ไข่ ถั่วลิสง ถั่ว นม และถั่วเปลือกแข็ง โดยนอกจากต้องระบุว่ามีส่วนประกอบเหล่านี้แล้ว ยังต้องมีข้อความเตือนว่าวัตถุดิบเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้ บริโภคบางคนได้ด้วย นอกจากนี้ หากเป็นสินค้าที่มีส่วนผสมของสิ่งที่มาจากการตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically Modified Organism: GMOs) ก็จะต้องมีการแสดงสัญลักษณ์และระบุถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

- ปรับปรุงมาตรฐานในการคำนวณพื้นที่บรรจุภัณฑ์ อาทิ การคำนวณพื้นที่ “ถุง” ต้องไม่นับรวมพื้นที่ขอบสำหรับซีล และการคำนวนพื้นที่ “ขวด/กระป๋อง” ต้องไม่นับรวมด้านบนและด้านล่าง ไหล่ขวดและคอขวด เป็นต้น (โดยรายละเอียดปรากฏในภาคผนวก A ของกฎฉบับนี้)

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความสับสนจากการตีความ กฎฉบับนี้จึงได้เพิ่มภาคผนวกอีก 2 ส่วน (ภาคผนวก B และ ภาคผนวก C) โดยภาคผนวก B แจกแจงรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการแสดงวัตถุปรุงแต่งอาหารในตารางส่วนผสม และภาคผนวก C เป็นตัวอย่างแนะนำการแสดงรายละเอียดสินค้าบนบรรรจุภัณฑ์ อาทิ น้ำหนักสุทธิ หรือปริมาณสุทธิ วันเดือนปี ระยะเวลาเก็บรักษา และเงื่อนไขการเก็บรักษา

อ้างอิงจาก “ว่าด้วยฉลากผลิตภัณฑ์อาหารในจีน ความรู้เบื้องต้นที่ผู้ประกอบการไทยต้องรู้”

http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/articles/detail.php?IBLOCK_ID=70&SECTION_ID=512&ELEMENT_ID=12417

 

ฉลากสินค้านำเข้าก็ไม่เว้น และจะตรวจเข้มกว่าเดิม

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้า “โดยตรง” จากต่างประเทศ ซึ่งใช้บรรจุภัณฑ์เดียวกับที่จำหน่ายในต่างประเทศ ก็จะต้องจัดทำ “ฉลากสินค้า” ที่ต้องระบุชื่อผลิตภัณฑ์ ส่วนผสม รหัสมาตรฐาน (Standard Code) วันที่ผลิต ระยะเวลา/วิธีการเก็บรักษา ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต และเลขที่หนังสือรับรองสุขอนามัย เป็นต้น โดยมีสำนักงาน AQSIQ (General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of the People's Republic of China) และ CIQ (China Entry & Exit Inspection and Quarantine Association) เป็นหน่วยงานที่ควบคุมและดูแลความถูกต้องของฉลากดังกล่าว ก่อนจะอนุญาตให้สินค้าดังกล่าวผ่านเข้าสู่ประเทศจีนเพื่อจำหน่ายต่อไป นอกจากนี้ การตรวจสอบก็เป็นแบบล็อตต่อล็อต กล่าวคือ ถึงเป็นสินค้าเหมือนกัน แต่นำเข้าไม่พร้อมกัน ก็จะต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตและตรวจสินค้าใหม่อีก

ที่ผ่านมา หาก CIQ ตรวจพบสินค้าที่จะส่งเข้าจีนมีฉลากไม่ตรงตามระเบียบที่กำหนดไว้ ก็จะยืดหยุ่นให้ผู้ส่งออกดำเนินการปรับแก้ให้ถูกต้อง ก่อนนำเข้าสู่ประเทศจีนต่อไป ปัจจุบัน สำนักงาน AQSIQ ของจีน (หน่วยงานต้นสังกัดของ CIQ ทุกแห่งในจีน) กำลังพิจารณาระเบียบใหม่ โดยในอนาคตหากตรวจพบฉลากสินค้าที่ไม่ถูกต้อง จะไม่อนุญาตให้มีการปรับแก้ และให้ผู้ส่งออกเลือกดำเนินการวิธีใดวิธีหนึ่งใน 2 รูปแบบ คือ 1) ให้ทางการจีนส่งสินค้ากลับคืนไป หรือ 2) ให้ทางการจีนทำลายสินค้าทิ้ง โดยระเบียบใหม่ดังกล่าวจะบังคับใช้กับทุกด่านของจีนที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

อ้างอิงจาก “เตรียมตัวไว้.. ระเบียบใหม่ “ฉลากสินค้าอาหาร” ส่งเข้าจีนเข้มข้นกว่าเดิม!!”http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/china-economic-business/result.php?IBLOCK_ID=69&SECTION_ID=483&ELEMENT_ID=13429

 

ฐานะดีขึ้น ยอมจ่ายแพงกว่าแลกกับของดี โดยเฉพาะเพื่อลูก

ตั้งแต่สถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” เมื่อปี 2492 จีนเริ่มมีความมั่นคง จึงสนใจพัฒนาเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง จากนั้นได้ทำการปฎิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศในปี 2522 นำประเทศเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เปรียบเทียบจากการขยายตัวของ GDP จีน โดยในปี 2533 GDP จีนขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งต่ำที่สุดในทศวรรษที่ 1970 ผ่านช่วงเวลาของการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับ 2 หลัก (2 digits) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 และเกือบตลาดทศวรรษที่ 2000

เศรษฐกิจที่เจริญขึ้น นำรายได้ที่มากขึ้นมาสู่ชาวจีน ทำให้ชาวจีนมีชีวิตที่กินดีอยู่ดีขึ้น ปี 2529 เป็นปีสุดท้ายที่ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (disposable income) เฉลี่ยต่ำกว่าหลักพันหยวนต่อปี จากนั้นรายได้เฉลี่ยของชาวจีนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งแตะระดับหมื่นหยวนในปี 2548 และทะลุหลักสองหมื่นหยวนในปี 2554 ล่าสุดรายได้เฉลี่ยของชาวจีนในปี 2556 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 26,955 หยวน/ปี (อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 5.5 บาท/หยวน) แล้ว ซึ่งเริ่มขยับเข้ามาใกล้ตัวเลขรายได้ต่อหัวของประเทศไทยขึ้นเรื่อยๆ (และอาจจะแซงได้ในอนาคต) โดยปี 2553 ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัว 4,735 ดอลล่าร์สหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 33 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ) (อ้างอิงข้อมูลเปรียบเทียบรายได้ต่อหัวประชากรอาเซียน หรือ GDP per capita ปี 2553 โดยกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ASEAN DNA)

เมื่อชาวจีนมีรายได้สูงขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนภายในประเทศดีขึ้น อุปสงค์ภายในประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย จากสถิติ ปี 2554 ที่ผ่านมา ชาวจีนใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 18.1226 ล้านล้านหยวน (ราว 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวกว่าร้อยละ 17.1 ซึ่งหากสถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของชาวจีนน่าจะแซงหน้าสหรัฐฯ ภายในปี 2559 ด้วยมูลค่าราว 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ไม่เพียงกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ทัศนคติในการใช้ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่กินอยู่แบบประหยัด นิยมของถูก ซื้อสินค้าโดยพิจารณาจากราคาเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงคุณภาพมากนัก ก็เริ่มหันมาเลือกใช้สินค้าที่ดีมีคุณภาพ สรรหาของดีมีประโยชน์มาบำรุงสุขภาพ โดยเฉพาะผลจากการบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนตั้งแต่ปี 2523 เพื่อจำกัดจำนวนประชากร แม้จะมีข้อยกเว้นในทางปฏิบัติ แต่จะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ ทำให้ชาวจีนที่แต่ไหนแต่ไรมีค่านิยมมีลูกหลานเต็มบ้าน ต้องถูกจำกัดให้มีบุตรได้เพียงหนึ่งคนต่อสามีภรรยาหนึ่งคู่ โดย "ฮ่องเต้น้อย" หรือ “องค์หญิงน้อย” เหล่านี้เป็นเสมือนแก้วตาดวงใจซึ่งได้รับความรักและการเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากคนในครอบครัว ผู้เป็นพ่อแม่ย่อมต้องการที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ “อาตี๋อาหมวย” เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ เสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องใกล้ตัวอย่างเรื่องอาหารการกิน

แข่งถูก...สู้ยาก แต่แข่งดี...มีลุ้น

จากประเทศที่มีปริมาณการค้าจากอันดับ 32 ในปี 2522 เมื่อจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในปลายปี 2544 ได้กลายเป็นประเทศที่มีปริมาณการค้าอันดับ 5 ของโลก และก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกตั้งแต่ปี 2550 นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากย้ายฐานการผลิตเข้ามาในจีนเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ภาพลักษณ์ของจีนในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงจาก “ผู้บริโภคสินค้ารายใหญ่ของโลก” มาเป็น“แหล่งผลิตสินค้าส่งออกไปขายทั่วโลก” จนทำให้เกิดสมญานามว่า จีนได้กลายเป็น “โรงงานของโลก (World Factory)”

การที่จีนสามารถผลิตสินค้าได้ครั้งละจำนวนมาก มีต้นทุนราคาวัตถุดิบต่ำและต้นทุนค่าแรงถูก บวกกับความได้เปรียบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ทำให้สินค้าราคาถูกจากทะลักไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก สร้างผลกระทบต่อผู้ผลิตรายย่อยในประเทศนั้นอย่างรุนแรง ในขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันไม่ให้สินค้าประเภทเดียวกันจากต่างประเทศเข้ามาบุกตลาดจีนด้วย เพราะไม่สามารถต่อสู้เรื่องราคาได้

ไทยกับจีนมีความใกล้เคียงกันในหลายๆ ด้าน อาทิ เป็นประเทศกำลังพัฒนา เป็นประเทศเกษตรกรรม และมีที่ตั้งไม่ห่างกันมากนัก ทำให้มีผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน แม้แต่ในภาคอุตสาหกรรม ถึงไทยจะเปิดประเทศก่อนจีน แต่ขาดการวิจัยพัฒนาต่อยอด และมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต

ทำให้สินค้าไทยหลายประเภทไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนได้ อาทิ กลุ่มเซรามิกที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรง 300 บาท/วัน และการปรับขึ้นราคาแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมของกระทรวงพลังงาน ทำให้เซรามิก

ราคาถูกจากจีนเข้ามาแย่งตลาดภายในประเทศ (ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.))

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของสินค้าจีนที่ยังลบไม่ออกไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนคือ เมื่อนึกถึงสินค้าจีน ก็จะนึกถึงสินค้าราคาถูก คุณภาพต่ำ หากเป็นของใช้ก็มีอายุการใช้งานสั้น หากเป็นสินค้าประเภทอาหารก็ไม่ปลอดภัย ซึ่งแม้แต่ชาวจีนเองก็ยังไม่มั่นใจในคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรจะใช้โอกาสจากการที่สินค้าจีนมีจุดอ่อนเรื่องคุณภาพ นำมาปรับกลยุทธ์ในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น และทำการตลาดโดยใช้ประเด็นเรื่องคุณภาพนำประเด็นเรื่องราคา และก็ไม่ต้องกังวลว่าจะขายไม่ได้ เพราะตอนนี้คนจีนมีเงินและอยากใช้ของดี 

Confirm สินค้าไทยดีจริง สินค้าจีนต้องติดฉลากภาษาไทย ปลอม มอก.

คนจีนโดยทั่วไปมักจะมีความประทับใจ หรือรู้จักประเทศไทยในมุมที่ว่า อาหารไทยรสจัดจ้านเผ็ดร้อน ผลไม้ไทยรสชาติอร่อย และประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดให้แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และได้ซื้อหาสินค้าไทยติดไม้ติดมือกลับไปด้วย ถือเป็นช่องทางการทำตลาดสินค้าไทยอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการส่งสินค้าไปจำหน่ายที่ประเทศจีนโดยตรง

สินค้าไทยในสายตาของชาวจีนถือเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานและคุณภาพดี เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีข่าวพบความไม่ปลอดภัยระดับรุนแรงในสินค้าไทยประเภทอาหาร นอกจากนี้ ชาวจีนที่เคยบริโภคสินค้าไทย ก็ล้วนมีความประทับใจกับคุณภาพของสินค้า ยืนยันได้จากการที่มีผู้ประกอบการไทยร้องเรียนมายังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า พบสินค้าจากประเทศจีนติดฉลากภาษาไทยและปลอมเครื่องหมาย มอก. วางจำหน่ายในประเทศลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าจากประเทศไทย เนื่องจากสินค้าไทยเป็นที่ชื่นชอบ และผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านมีความมั่นใจในมาตรฐานสินค้า แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าสินค้าจีน

โดยปัญหาดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าประเภทเซรามิก เครื่องใช้ไฟฟ้า ของชำร่วย ของเด็กเล่น และอาหารสำเร็จรูป เพราะมีลูกค้าหลายรายเข้าใจผิดและซื้อสินค้าจีน แต่สินค้าที่ซื้อไปกลับมีอายุการใช้งานสั้น จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าไทย

เน้นจุดแข็งเรื่องคุณภาพ เป็นคู่ค้าไม่ใช่คู่แข่ง

เมื่อมองเห็นจุดอ่อนของสินค้าจีนที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ จุดแข็งของสินค้าไทยที่ได้คุณภาพมาตรฐาน และโอกาสจากการที่ชาวจีนมีฐานะดีขึ้นและกล้าใช้จ่ายเงินเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดี ผู้ประกอบการไทยก็ต้องปรับกลยุทธ์และแนวคิดในการทำธุรกิจกับจีนว่า เราไม่ใช่คู่แข่งกับสินค้าราคาถูกจากจีน แต่เราสามารถเป็นคู่ค้ากับจีนได้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้โอกาสจากการที่ผู้บริโภคชาวจีนเปิดรับและชื่นชอบสินค้าไทย

อย่างไรก็ตาม ต้องเลือกสินค้าไทยที่มุ่งจับตลาดผู้บริโภคระดับกลาง-บน ถึงแม้ว่าผู้บริโภคประเภทนี้ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประชากรจีน แต่เมื่อเทียบสัดส่วนก็มีจำนวนมากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศด้วยซ้ำ และเศรษฐกิจจีนที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้กลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง-บน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับการบรรยายของ

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ในงานสัมมนา มองโลก มองไทย สู่ปี 2015 ที่มีใจความสำคัญว่า ตลาดจีนยิ่งใหญ่มาก ต้องคิดว่ามีโอกาสมาแล้วจะทำอย่างไร ใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ ประเทศจีนมีจำนวนประชากรไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านคน ถ้าเพียงแค่ 10% ของคนจีนมาซื้อสินค้าไทยก็เท่ากับ 130 ล้านคนแล้ว มากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศเสียอีก