บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 16 "ร้านสะดวกซื้อมีระดับขายเฉพาะผลไม้ในประเทศจีน"

บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 16 "ร้านสะดวกซื้อมีระดับขายเฉพาะผลไม้ในประเทศจีน"

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ต.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 704 view

ผลไม้ไทยมีชื่อเสียงในประเทศจีนเป็นอย่างมาก โดยจีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในปี 2557 ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนปริมาณ 442,349 ตัน มีมูลค่า 389.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุที่ชาวจีนนิยมรับประทานผลไม้ไทยนั้น เนื่องจากผลไม้ไทยมีคุณภาพดี รสชาติถูกใจ และแปลกใหม่ อีกทั้ง ผลไม้ไทยยังถือว่าเป็นผลไม้เมืองร้อนที่จีนไม่สามารถปลูกให้มีคุณภาพดีเทียบเท่า แม้จะมีการส่งเสริมให้ปลูกในสิบสองพันนาหรือไหหลำ

พ่อค้าชาวจีนนิยมเดินทางเข้ามาซื้อผลไม้ไทยโดยตรงจากเจ้าของสวน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบการวางเงินมัดจำล่วงหน้าเหมาสวน หรือในรูปแบบการรวบรวมซื้อผลไม้จากหลายสวน ทั้งนี้ เพื่อประหยัดต้นทุนโดยไม่ต้องการผ่านพ่อค้าคนกลาง ในขณะเดียวกัน พ่อค้าก็จะได้ผลไม้คุณภาพดี ตรงกับความต้องการของบริษัทและตรงกับรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคจีนอีกด้วย ดังนั้น เจ้าของสวนจึงไม่ต้องกังวลเรื่องกระบวนการการส่งออกและกฎระเบียบการส่งผลไม้ไทยเข้าประเทศจีน เพียงแต่กังวลว่าราคาขายหน้าสวนจะได้เพียงใดและผลไม้ของสวนจะมีคุณภาพมากแค่ไหน โดยเอาเวลาไปใส่ใจกับการควบคุมคุณภาพ เพื่อจะได้สามารถขายได้ราคาสูงกว่าเจ้าของสวนรายอื่นๆ

ในปัจจุบัน กระแสนิยมซื้อผลไม้ไทยในประเทศจีนเรียกได้ว่า ถูกยกระดับความเป็นไฮโซขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ยกตัวอย่าง ร้าน Changsha Fruit-mate ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อเฉพาะที่ขายผลไม้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นผลไม้เมืองหนาวและผลไม้เมืองร้อน ภายในร้านยังมีบริการขายน้ำผลไม้คั้นสด น้ำผลไม้ปั่น คุกกี้ผลไม้ และขนมทานเล่นต่าง ๆ ที่ทำมาจากผลไม้ โดยทางร้านจัดที่นั่งไว้บริการอย่างลงตัว บรรยากาศภายในและภายนอกร้านนั้นก็ได้รับการตกแต่งอย่างน่านั่งและมีระดับ ผู้อ่านสามารถจินตนาการถึงภาพของ เซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีแต่ผลไม้

ผลไม้ไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมอย่างมากในร้านขายผลไม้ที่ประเทศจีน จนถือได้ว่าเป็นดาวเด่นของร้าน คือ ทุเรียน รองลงมาคือลำไยและมังคุด โดยเฉพาะทุเรียนก้านยาว (ราคาขาย 17.8 หยวน ต่อ 500 กรัม) และทุเรียนหมอนทอง (ราคาขาย 10.8 หยวน ต่อ 500 กรัม) อีกทั้งพื้นที่ข้างทุเรียนก็จะมีมังคุดไทยวางขายไว้คู่กันด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนซื้อไปรับประทานคู่กับทุเรียน เพราะหากซื้อทุเรียนไปรับประทานเพียงอย่างเดียวก็จะเกิดอาการร้อนใน ดังนั้น จึงต้องซื้อมังคุดไปรับประทานเพื่อเป็นการปรับธาตุให้สมดุล นอกจากนี้ ยังมีมะพร้าวน้ำหอม ส้มโอพันธุ์ทองดีจากจังหวัดนครปฐม เงาะโรงเรียนจังหวัดสุราษฏร์ธานี ลำไยสีทองจากจังหวัดจันทบุรี ชมพู่เพชร ขนุน สละ และกล้วยไข่ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคชาวจีน

ด้านการค้าระหว่างไทย-จีน ฝ่ายไทยสามารถส่งผลไม้เข้าจีนได้ 22 ชนิด คือ มะขาม ส้มเขียวหวาน น้อยหน่า ส้ม ส้มโอ มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ชมพู่ ขนุน ลองกอง สับปะรด ละมุด กล้วยหอม เสาวรส มะพร้าว ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ และมังคุด ดังนั้น จึงมีผลไม้อีกหลายชนิดที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนักในปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็เชื่อได้ว่า หากผู้บริโภคชาวจีนได้ทดลองชิมผลไม้ไทยแล้ว ก็จะติดใจในรสชาติและคุณภาพของผลไม้ไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นผลไม้แปลกใหม่ที่พ้นความซ้ำซากจำเจ สอดคล้องกับกระแสนิยมการรับประทานผลไม้เพื่อสุขภาพในปัจจุบันอีกด้วย

ผลไม้ไทยที่มีศักยภาพของไทยและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีน ได้แก่ ลองกอง ลางสาด เสาวรส ฝรั่ง ฯลฯ โดยจะเห็นได้ว่าความนิยมในผลไม้ไทยในจีนในปัจจุบัน ได้ถูกยกระดับขึ้นไปอีกระดับหนึ่งแล้ว ด้วยการมีร้านเฉพาะเพื่อจำหน่ายผลไม้ตามเมืองใหญ่ ๆ ของจีน ซึ่งจะทำให้ผลไม้ไทยไม่ใช่เพียงแค่หาซื้อในตลาดสดหรือในห้างสรรพสินค้าอีกต่อไป แต่สามารถซื้อผลไม้ที่ร้านสะดวกซื้อที่จำหน่ายโดยเฉพาะผลไม้เท่านั้น      

จากที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลไม้ไทยที่มีคุณภาพดี รสชาติแตกต่าง และมีความแปลกใหม่จึงเป็นที่ต้องการของตลาดจีน ดังนั้น เจ้าของสวนผลไม้และผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรกังวลว่าผลไม้ไทยจะไม่สามารถขายได้ หรือจะไม่สามารถส่งออกได้ เพราะความต้องการผลไม้ในประเทศจีนนั้นมีอยู่จริง แต่เจ้าของสวนผลไม้ของไทยต้องรักษาคุณภาพของผลไม้ของสวนตนเองและต้องหมั่นรักษา ปรับปรุงคุณภาพ และพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ผลไม้ไทยที่มีคุณภาพดีและมีชื่อเสียงของไทยเหล่านี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะมีพ่อค้าชาวจีนเข้ามาติดต่อและรับซื้อโดยตรงมากขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่เจ้าของสวนผลไม้และผู้ประกอบการไทยจะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิต คุณภาพ ความปลอดภัย บรรจุภัณฑ์ และสามารถรักษาชื่อเสียงของผลไม้ไทยให้คงอยู่ตลอดไป

เจ้าของร้านผลไม้ในจีนบอกกับผู้เขียนว่า อยากที่จะติดต่อกับเจ้าของสวนผลไม้ไทย ที่มีผลไม้ไทยที่มีคุณภาพสูงเท่านั้น เนื่องจากการรับซื้อโดยตรงที่ผ่านมามักจะประสบปัญหากับการที่ผลไม้ไทยมีคุณภาพและขนาดไม่สม่ำเสมอ อีกทั้ง เจ้าของร้านผลไม้ของจีนมีความประสงค์ที่จะรับซื้อผลไม้ไทยคุณภาพดีจำนวนมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เจ้าของสวนไม่สามารถผลิตผลไม้ได้มากตามที่เจ้าของร้านต้องการ

จากคำบอกเล่าของเจ้าของร้านผลไม้และผู้ประกอบการชาวจีนที่เข้ามาซื้อผลไม้ไทยโดยตรง แสดงให้เห็นว่า ประเทศจีนอยากได้ผลไม้ไทยที่มีคุณภาพดีจำนวนมาก แต่กลับเป็นฝ่ายไทยเสียอีกที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้เพียงพอ เช่น ปัญหาคุณภาพผลไม้ไม่สม่ำเสมอ ขนาดของผลไม้ไม่เท่ากัน จำนวนไม่เพียงพอ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้ผลไม้ไทยไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้มากเท่าที่ควร     

ในปัจจุบัน กระแสนิยมและชื่อเสียงของผลไม้ไทยในจีนได้ถูกยกระดับขึ้นไปอีกระดับหนึ่งแล้ว ทำให้ภาพลักษณ์และความต้องการผลไม้ไทยมีโอกาสและช่องทางในการจำหน่ายในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงในนครฉางซา มณฑลหูหนาน ก็ยังมีร้านขายเฉพาะที่ผลไม้เท่านั้น โดยซื้อมะพร้าวน้ำหอมแช่เย็น 1 ลูก ในราคา 12 หยวน (60 กว่าบาท) ซึ่งรสชาติหอมหวนชื่นใจไม่ผิดเพี้ยนจากที่ประเทศไทยเลย จึงถือได้ว่าราคาไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าการตลาดและราคาผลไม้ชนิดอื่นๆ ของผู้บริโภคชาวจีน อีกทั้ง ชาวจีนเชื่อว่าน้ำมะพร้าวมีสรรพคุณและคุณประโยชน์สูงต่อร่างกาย ดังนั้น คุณภาพ ชื่อเสียง และกระแสนิยมผลไม้ไทยที่ปรากฏอยู่ทั่วประเทศจีนจึงเป็นประจักษ์พยานว่าผลไม้ไทยนั้นมีโอกาสและมีตลาดรองรับ เพียงแต่เจ้าของสวนผลไม้ไทยและผู้ประกอบการไทยจะต้องรักษาคุณภาพและชื่อเสียงให้อยู่ในระดับมาตรฐานต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อและกระแสนิยมของชาวจีน

บทความนี้เขียนโดยนายสุชาติ เลียงแสงทอง กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง