บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 18 "ขนมไหว้พระจันทร์สตาร์บัค"

บทความตีพิมพ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 18 "ขนมไหว้พระจันทร์สตาร์บัค"

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ต.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 พ.ย. 2565

| 772 view

ถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่บรรยากาศการฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ยังคงไม่จางหายไปซะทีเดียว บางครอบครัวอาจจะยังมีขนมไหว้พระจันทร์เก็บไว้เพื่อรอรับประทานอีกหลายชิ้น จริงๆ แล้วขนมไหว้พระจันทร์ได้กลายเป็นของว่างที่สามารถหารับประทานได้ทั้งปีสำหรับคนไทยไปแล้ว แต่หากได้รับประทานในเทศกาลไหว้พระจันทร์พร้อมหน้าญาติพี่น้องก็ย่อมทำให้รู้สึกอร่อยมากขึ้น

เทศกาลไหว้พระจันทร์ปี 2558 ตรงกับวันที่ 27 กันยายน กาแฟสตาร์บัคในประเทศจีนได้สร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับสินค้าของตนเองอย่างต่อเนื่อง นอกจากการผลิตบะจ่างสำหรับรับประทานคู่กับกาแฟในเทศกาลบะจ่างแล้ว ล่าสุด กาแฟสตาร์บัคได้ผลิตขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งสามารถรับประทานคู่กับกาแฟ และมอบเป็นของฝากในเทศกาลไหว้พระจันทร์ด้วย

ตำนานที่มาของเทศกาลไหว้พระจันทร์มีหลากหลาย หนึ่งในตำนานกล่าวว่า วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามจันทรคติจีน ซึ่งตรงกับกลางฤดูใบไม้ร่วง เป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรกำลังเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรที่สุกงอม ดังนั้น ชาวจีนในอดีตจึงมีประเพณีกราบไหว้เทพยดาเพื่อขอบคุณที่ช่วยให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกได้ผลผลิตดี และภาวนาให้การเพาะปลูกดีในปีถัดไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เทศกาลไหว้พระจันทร์ในทัศนคติของชาวจีนในปัจจุบันเป็นเพียงเทศกาลรื่นเริง การรับประทานร่วมกันในหมู่ญาติหรือเพื่อน การรับประทานและมอบขนมไหว้พระจันทร์แก่กันเพื่อส่งความปรารถนาดี โดยไม่มีประเพณีกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ในขณะที่ชาวไทยเชื้อสายจีนกลับยังคงรักษาประเพณี  การฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์แบบดั้งเดิมเอาไว้

ชาวจีนในอดีตนิยมปรุงขนมไหว้พระจันทร์รับประทานเองในครอบครัวและมอบให้ญาติหรือเพื่อนบ้าน ขนมไหว้พระจันทร์ของจีนมีหลากหลายชนิด แตกต่างกันไปตามภูมิภาคของจีน ยกตัวอย่างขนมไหว้พระจันทร์ที่คนไทยคุ้นเคย ได้แก่ ขนมไหว้พระจันทร์สไตล์กวางตุ้งซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่นิยมรับประทานกันในประเทศไทย และขนมไหว้พระจันทร์สไตล์ยูนนานซึ่งนิยมใส่ใส้แฮมยูนนานซึ่งมีรสเค็ม

ปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนเปลี่ยนไป นิยมความสะดวก และใส่ใจบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม    จึงเป็นโอกาสสำหรับนักธุรกิจจีนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ขนมไหว้พระจันทร์โดยวิธีการต่างๆ

                     - การผลิตขนมไหว้พระจันทร์ปริมาณมากเพื่อลดต้นทุน

                     - ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม และสะดวกในการพกพาเพื่อเพิ่มมูลค่าและราคา

                     - ราคาหลายระดับ ขึ้นอยู่กับชนิดของไส้ขนมและจำนวนขนม รวมทั้งความสวยงามของบรรจุภัณฑ์

ต่อยอดจากปรากฏการณ์บะจ่างสตาร์บัคทั่วประเทศจีนในเทศกาลบะจ่าง ที่สร้างทัศนคติใหม่ในหมู่ชาวจีนว่า บะจ่างสามารถรับประทานคู่กับกาแฟสดได้ เทศกาลไหว้พระจันทร์ปีนี้ สตาร์บัคได้ผลิตขนมไหว้พระจันทร์หน้าตาน่ารับประทาน รสชาติอร่อย พร้อมบรรจุภัณฑ์สวยงาม เพื่อรับประทานกับกาแฟสด และสำหรับเป็นของฝากในเทศกาลไหว้พระจันทร์

                     - หน้าตาและรสชาติ ขนมไหว้พระจันทร์สตาร์บัคมีหน้าตาสวยงาม ชวนรับประทานมีลายดอกไม้ รูปทรงขนมโมจิ และรูปทรงขนมไหว้พระจันทร์ทั่วไป แต่ประทับหน้าขนมเป็นตราสัญลักษณ์สตาร์บัค สีสันแตกต่างกันไปตามรสชาติและวัตถุดิบ อาทิ สีชมพูลายดอกไม้รสลิ้นจี่ สีชมพูลายสตาร์บัครสราสเบอรี่ สีกาแฟลายสตาร์บัครสลาเต้เฮเซลนัท สีน้ำเงินเข้มลายสตาร์บัครสบลูเบอรี่ชีส สีส้มลายสตาร์บัครสส้มน้ำผึ้งชาแดง โดยแป้งชั้นนอกเป็นแป้งชนิดเดียวกับขนมไหว้พระจันทร์สไตล์กวางตุ้ง ปรุงรสและสีตามรสชาติของไส้ ส่วนไส้ขนมมีรสชาติหวานเล็กน้อย ไม่เลี่ยน สามารถรับประทานเป็นของว่างหรือรับประทานกับกาแฟสดได้

                     - บรรจุภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ขนมไหว้พระจันทร์สตาร์บัคมีบรรจุภัณฑ์ 3 ขนาดได้แก่ ขนาด 6 ชิ้น 8 ชิ้น และ 10 ชิ้น กำหนดราคา 328 หยวน 428 หยวน และ 598 หยวน ตามลำดับ ขายปลีกชิ้นละ 59 หยวน หรือประมาณ 300 บาท/ชิ้น ซึ่งเป็นขนมไหว้พระจันทร์ที่ใช้วัตถุดิบธรรมดา แต่สามารถกำหนดราคาขายได้สูงเมื่อเปรียบเทียบกับขนมไหว้พระจันทร์ทั่วไป โดยดัดแปลงและปรุงขนมไหว้พระจันทร์ให้มีรสชาติแปลกใหม่ ไม่เลี่ยน หน้าตาสวยงาม ชวนให้ผู้พบเห็นอยากชิม เพียงคนจีนซื้อชิมคนละชิ้นก็สามารถสร้างยอดขายได้เป็นล้านชิ้น และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดูมีระดับ เหมาะกับการมอบเป็นของขวัญให้แก่ญาติหรือเพื่อน อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น เก็บเครื่องประดับ

                     - การตลาด ชาวจีนนิยมมอบของขวัญให้แก่กันในเทศกาลต่างๆ รวมทั้งการมอบขนมไหว้พระจันทร์ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ ผู้ให้จะซื้อคูปองขนมไหว้พระจันทร์จากสตาร์บัค และนำคูปองไปมอบให้ผู้รับ โดยผู้รับสามารถนำคูปองไปรับขนมไหว้พระจันทร์ได้ที่สตาร์บัคทุกสาขาภายในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งวิธีนี้ นอกจากจะเป็นสะดวกทั้งผู้ให้และผู้รับแล้ว ยังทำให้สตาร์บัคสามารถกำหนดยอดการผลิตขนมไหว้พระจันทร์ได้อย่างถูกต้อง ไม่ผลิตมากหรือน้อยเกินไป โดยประมาณการจากปริมาณคูปองที่ขายไปได้ล่วงหน้า

แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มและการทำตลาดของขนมไหว้พระจันทร์สตาร์บัคดังกล่าว เป็นการนำภูมิปัญญาโบราณของจีนด้านอาหารการกินมาใช้ประโยชน์ โดยผนวกกับเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร การบริหารและวิธีการทำตลาดที่มีชั้นเชิง จนทำให้ขนมไหว้พระจันทร์สามารถขึ้นห้างขายในร้านสตาร์บัคและรับประทานคู่กับกาแฟสตาร์บัคได้อย่างลงตัว

ประเทศไทยเองก็มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรอาหาร รวมทั้งมีภูมิปัญญาโบราณด้านอาหารการกินอย่างหลากหลาย จึงเป็นโอกาสที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยจะได้รับทราบเรื่องราวที่กล่าวมา เพื่อประยุกต์ใช้แนวทางดังกล่าวกับสินค้าอาหารแปรรูปของไทย โดยกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายเป็นทั้งชาวไทย และชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย เพื่อซื้อกลับไปเป็นของฝาก อันเป็นการเพิ่มรายได้และช่วยการส่งออกให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง

บทความนี้เขียนโดยนายสุชาติ เลียงแสงทอง กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง