บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 3 เปิดรับสะพานใหม่ ประตูเชื่อมอาเซียน-จีนตอนใต้

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 3 เปิดรับสะพานใหม่ ประตูเชื่อมอาเซียน-จีนตอนใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 490 view

ดีเดย์วันที่ 11 ธันวาคม 2556 หรือฤกษ์ดี 11 / 12 / (20)13 เป็นวันเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) อย่างเป็นทางการ หลังจากที่รอกันมานานกว่า 3 ปีครึ่ง สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งนี้ยาว 630 เมตร ค่าก่อสร้างสะพานฯ สูงถึง 48.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อสร้างโดย CR5-KT Jiontventure ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท China Railway No.5 ของจีนและบริษัทกรุงธน เอนจิเนียริ่ง จำกัด ของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนลงทุนฝ่ายละครึ่ง และเป็นครั้งแรกที่ทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) สามารถเดินรถได้ตลอดสาย โดยไม่ต้องลงเรือข้ามโขงอีก ถือเป็นตำนานที่ยาวนาน นับแต่ R3A เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2551

เส้นทาง R3A เริ่มต้นจากคุนหมิง ผ่านยวี่ซี ผูเอ่อร์ และสิบสองปันนา ออกที่ด่านบ่อหานของมณฑลยูนนาน เข้าด่านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาของลาว และออกที่ด่านห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของลาว เข้าไทยที่ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย มุ่งหน้าสู่กรุงเทพ รวมระยะทางกว่า 1,800 ก.ม. ช่วงรอยต่อห้วยทรายในลาวกับเชียงของของไทย จะมีแม่น้ำโขงกั้น ทำให้รถทุกคัน ต้องลงเรือแพขนานยนต์ข้ามฟาก เพียงระยะทาง 500 เมตร แต่ต้องใช้เวลาข้ามฟากรวมขั้นตอนการทำเอกสารอย่างน้อยต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง หากช่วงรถมาก อาจต้องรอต่อคิวเป็นวัน สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 เปิดในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย (ไทย ลาวและจีน) ที่ต่างฝ่ายได้รับอานิสงค์กันทั่วหน้า

บทบาทความสำคัญของ R3A หลังสะพานเปิด

นายสวง ชิงหัว (xiong Qinghua) อธิบดีกรมพาณิชย์มณฑลยูนนานกล่าวว่า “หากมองเส้นทาง R3A เป็นเพียงเส้นทางขนส่งธรรมดา ถือเป็นการประเมินค่าเส้นทางนี้ต่ำไป” เส้นทาง R3A ถือเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมอุตสาหกรรม โดยยูนนานเริ่มยุทธศาสตร์หัวสะพาน ลาวและยูนนานเริ่มสร้างเขตความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนบ่อหาน-บ่อเต็น และไทยที่เชียงของกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชียงของ จะเห็นได้ว่า การมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดี นำมาซึ่งโอกาสทางการค้า เส้นทางR3A จะกลายเป็นเส้นทางห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศที่สำคัญในอนาคตระหว่างจีนและอาเซียน

ก่อนจะมีเส้นทาง R3A ดอกไม้จากคุนหมิงเดินทางสู่เมืองไทยด้วยเครื่องบิน ต้นทุนอยู่ที่ 9-12 หยวน/ก.ก. หลังจากมี R3A ต้นทุนค่าขนส่งเหลือเพียง 2-3 หยวน/ก.ก. และใช้เวลาเดินทางเพียง 30 กว่าชั่วโมง ดอกไม้จากยูนนานเข้าสู่ตลาดเมืองไทยจากเดิม 25%~30%เพิ่มเป็น 60%

ก่อนมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 การขนส่งสินค้าบนเส้นทาง R3A ต้องพึ่งพาการข้ามเรือแพขนานยนต์ รถขนสินค้าหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐานมีค่าใช้จ่ายประมาณ 400 หยวน (1หยวน ประมาณ 5 บาท) หากจำนวนรถที่จะข้ามฟากมีมาก ต้องรอวันถัดไป จะมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าจอดรถ ค่าทำความเย็นของตู้ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 600 หยวน รวม ๆ แล้วรถ 1คัน อาจมีค่าเสียเวลา หรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกราว 1,000 หยวน

ในอดีต การเดินทางจากคุนหมิง-กรุงเทพ มักถูกโฆษณาจากสื่อว่าใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเพียงทฤษฏีเท่านั้น แม้สะพานเชื่อมไทยลาวแห่งที่ 4 จะแล้วเสร็จ แต่ด้วยระยะทางกว่า 1,800 กม.

และในทางปฏิบัติ รถขนส่งสินค้าจะหยุดพักตอนกลางคืนเพื่อความปลอดภัย จึงยังต้องใช้เวลา 2 วัน แต่การมีสะพานเชื่อม จะทำให้ลดปัญหาความไม่แน่นอนของการข้ามฟากด้วยเรือแพขนานยนต์  ทำให้การเดินทางจากคุนหมิง-กรุงเทพ เกิดความคล่องตัวมากขึ้น  ไม่ต้องเสียเวลาในการใช้เรือข้ามฟาก นับเป็นความสำคัญของถนน R3A และเป็นโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางบกที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS)

ทุนยูนนานรุกคืบ R3A ตลอดเส้นทาง

ยูนนานได้ส่งเสริมให้บริษัทในยูนนานก้าวออกไปลงทุนภายนอกตามนโยบาย “ก้าวออกไป” ของจีน แต่ที่ผ่านมา ยูนนานเข้าไปลงทุนในไทยยังถือว่าน้อยอยู่มาก และส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจที่บริหารโดยรัฐบาล ความสะดวกของเส้นทาง R3A ที่มีมากขึ้น จะเป็นโอกาสของภาคเอกชนยูนนานที่จะก้าวออกไปลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงเส้นทาง R3A กำลังจะกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวด้วยตนเองที่คึกคักยิ่งขึ้นเช่นกัน

ปัจจุบัน ยูนนานได้รุกคืบเข้าไปลงทุนตลอดเส้นทาง R3A โครงการสำคัญ เช่น

การลงทุนด้านการเกษตร

  • ตั้งแต่ปี 2007 –ปัจจุบัน ยูนนานได้เข้าไปลงทุนเกี่ยวกับยางพารา และการแปรรูปสินค้าเกษตรที่แขวงหลวงน้ำทาและแขวงบ่อแก้วรวม 29 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของการลงทุนโครงการเกษตรระหว่างยูนนาน-ลาว รวมมูลค่าการลงทุน 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • โครงการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตร ตั้งแต่ส.ค. 2008 บริษัททงไห่ซ่งเวย (云南通海宋威农产品进出口有限公司) จัดตั้งบริษัทซ่งเวยแห่งประเทศไทย ที่ตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งพืชผักที่ใหญ่ที่สุดในไทย โดยปี 2011 ส่งออกผักไปไทยรวมมูลค่า 54.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2012 เพิ่มเป็น 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภายใน 5 ปีข้างหน้าจะรุกตลาดส่งออกผลไม้ยูนนานไปประเทศไทยด้วย

การลงทุนในโครงการโลจิสติกส์

  • บริษัทไห่เฉิง (云南海诚实业集团股份有限公司) ร่วมกับรัฐบาลแขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว ลงทุนเมกาโปรเจค ก่อสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น  (老挝磨丁经济开发区) โดยเริ่มโครงการก่อสร้างเมื่อเม.ย. 2555 ฝ่ายจีนถือหุ้น 85 % และรัฐบาลลาวให้สิทธิ์จีนใช้ที่ดิน 90 ปี บนพื้นที่ 20 ตร.กม. ภายในจะประกอบไปด้วยหมู่บ้านโบราณ สนามกอล์ฟ เขตโลจิสติกส์ และเขตท่องเที่ยว ปัจจุบันลงทุนไปแล้ว 56.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • บริษัทเจี๋ยฟง (云南捷丰投资有限公司) เตรียมสร้างเขตโลจิสติกส์บนพื้นที่ 627 หมู่ (260 ไร่) ในอำเภอเชียงของ ห่างจากสะพาน 1.2 ก.ม. และเมื่อพ.ค. 2556 ได้สิทธิ์การใช้ที่ดิน ปัจจุบัน ลงทุนไปแล้วเกือบ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดต้นปี 2557 จะปิดการประมูลโครงการ และเริ่มการก่อสร้าง
  • บริษัท Gold Peacock Traffic Transportation Group (云南金孔雀交通运输集团有限公司) เตรียมก่อสร้างเขตโลจิสติกส์และรีสอร์ท บนพื้นที่ 120 หมู่ (50 ไร่) ในแขวงบ่อแก้ว ปัจจุบันลงทุนไปแล้ว 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ    

อุปสรรคบน R3A ที่ต้องร่วมกันแก้ไข

ในอดีต นอกจากอุปสรรคที่ต้องข้ามฟากด้วยเรือแล้ว เส้นทาง R3A ยังมีอุปสรรคอื่น ๆ อีกที่รอการแก้ไข ที่กล่าวย้ำกันบ่อยคือ การไม่สามารถเดินรถตรงจากยูนนานถึงไทยได้ ต้องเปลี่ยนหัวรถบรรทุก (Drop and Pull Transport) หรือขนถ่ายสินค้าเพื่อเปลี่ยนรถบรรทุกที่ด่านบ่อเต็นของลาว ทำให้เสียเวลา นอกจากนี้ ยังทำให้สินค้าที่มีระยะเวลาในการเก็บสั้นหรือต้องใช้ความเย็นในการเก็บรักษา เช่น ผัก ผลไม้และดอกไม้ เกิดความเสียหาย อีกทั้ง ปริมาณการนำเข้าส่งออกบนเส้นทาง R3A ที่ไม่สมดุล อัตราส่วน 20:1 ส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้าทางเดียว ต้องวิ่งรถเปล่ากลับ ทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นมาก

นอกจากนี้ เวลาการเปิด-ปิดด่าน การจัดประเภทและค่าธรรมเนียม ขั้นตอนและพิธีการทางศุลกากรที่ยุ่งยากของแต่ละประเทศไม่เป็นหนึ่งเดียว  ต้องดำเนินขั้นตอนของเอกสารถึง 4 ครั้ง คือ ที่ด่านบ่อหานในยูนนาน ด่านบ่อเต็นและด่านห้วยทรายในลาว และด่านเชียงของที่ไทย ทำให้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทั้งนี้ หาก MOU ไทย-ลาว-จีน ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าข้ามแดน มีผลบังคับใช้ ก็น่าจะช่วยให้การคมนาคมขนส่งบนเส้นทาง R3A สะดวก ราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ตลอดระยะเวลา 5 ปี สินค้าหลักที่ขนส่งบนเส้นทาง R3A ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร และสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ซึ่งหากจุดใดจุดหนึ่งของห่วงโซ่โลจิสติกส์อ่อนไหวหรือเปราะบางจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าได้ง่าย อีกทั้งตลอดเส้นทางก็ไม่มีเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ศูนย์กระจายสินค้า ที่จะช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเส้นทาง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างทาง เช่น ห้องน้ำ ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น ทำให้ไม่เกิดระบบโลจิสติกส์ขนาดใหญ่หรือมูลค่าการค้าที่สูงอย่างที่คาดการณ์ไว้

สะพานเชียงของ-ห้วยทราย เปรียบเสมือนเย็บรอยตะเข็บทางหลวง R3A เป็นการปรับปรุงเส้นทางการค้าระหว่างยูนนาน ลาว และไทย ให้ดีขึ้น เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการค้าไทยจีน ให้มีมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2558 เกิดขึ้นจริง

สะพานแห่งใหม่ที่สร้างเสร็จ ช่วยลดปัญหา “การรอไม่ไหว” แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ 3 ประเทศยังคงต้องพยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อทำให้เส้นทาง  R3A เกิดความคล่องตัวมากขึ้น กลายเป็นเส้นทางเชื่อมจีนกับอาเซียนที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

หมายเหตุ

  1. สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เปิดบริการตั้งแต่ 06.00-22.00 น.ค่าผ่านด่าน มีดังนี้

ประเภทรถ

ฝั่งไทย

(บาท)

ฝั่งลาว

(กีบ)

รถยนต์นั่งชนิดไม่เกิน 7 ที่นั่ง และรถบรรทุก 4 ล้อ

50

13,000

รถโดยสารขนาดเล็กที่เกิน 7 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่ง

100

27,000

รถโดยสารขนาดกลางขนาดเกิน 12 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 24 ที่นั่ง

150

40,000

รถโดยสารขนาดใหญ่ที่เกิน 24 ที่นั่งขึ้นไป

200

54,000

รถบรรทุก 6 ล้อ

250

67,000

รถบรรทุก 10 ล้อ

350

94,000

รถบรรทุกเกิน 10 ล้อขึ้นไป

500

135,000

  1. ภูมิหลังเส้นทาง R3A
  • ต.ค. 2535 เริ่มแนวคิดการสร้าง “ทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพ” (R3A) ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion-GMS)ครั้งที่ 1 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
  • พ.ย. 2544 ได้เจรจาข้อตกลงการก่อสร้าง R3A 3 ประเทศ 4 ฝ่าย คือ จีน ลาว ไทย และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank,ADB)ที่กรุงเทพ โดยถนนในลาวรับผิดชอบร่วมกัน 3 ประเทศคือ จีน ไทยและลาว โดยธนาคาร  ADB ให้ลาวกู้ยืม
  • เม.ย. 2547 เริ่มการก่อสร้าง R3A ในลาว โดยจีนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
  • ปี 2550 จีน ไทยและลาว เจรจาข้อตกลง ร่วมกันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4
  • ปี 2551  เปิดการเดินรถบนเส้นทาง R3A อย่างเป็นทางการ ช่วงห้วยทรายในลาว-เชียงของในไทย ใช้เรือเล็กและเรือแพขนานยนต์
  • ต.ค. 2552 ลงนามข้อตกลงด้านเงินทุนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4
  • มิ.ย. 2553 สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เริ่มการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ
  • วันที่ 12 ธันวาคม 2555 สะพานฝั่งเชียงของ และฝั่งห้วยทราย เชื่อมต่อกัน
  • วันที่ 11 ธันวาคม 2556  สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เปิดการเดินรถอย่างเป็นทางการ