บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 4 โอกาสลงทุนไทยจากมุมมองนักธุรกิจจีน

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 4 โอกาสลงทุนไทยจากมุมมองนักธุรกิจจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 452 view

จากการรายงานข่าวสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยในระยะนี้ อาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความลังเล และพับแผนการณ์ที่จะลงทุนในประเทศไทย

แต่ในมุมมองของนักธุรกิจคนจีนที่ไปลงทุนอยู่ในไทยแล้ว ก็มีคำแนะนำดีๆ มาบอกกันว่า หากคุณไม่ออกไปตามท้องถนนบริเวณที่มีการชุมนุม คุณก็แทบจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการชุมนุมเลย การลงนาม MOU ความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์การเงิน ระหว่างธนาคารผิงอัน (Ping AN) ของจีนกับธนาคารกสิกรไทย ในต้นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่การประท้วงกำลังร้อน เป็นสัญญลักษณ์ที่สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า สถานการณ์ทางการเมืองของไทย “ไม่มีผลกระทบ” กับการลงทุนในประเทศไทย

อยากเข้าใจประเทศไทยให้ลึกซึ้ง ต้องมาสัมผัสเอง

ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า ซึ่งมีประสบการณ์ในการเดินเข้าไปในฝูงชนที่กำลังประท้วงอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า หากคุณไม่เคยไปประเทศไทย ก็เป็นการยากที่คุณจะเข้าใจประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง

นับจากปี 2475 เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองกว่า 20 ครั้ง และมีนายกรัฐมนตรีมาแล้วเกือบ 30 ท่าน ส่งผลให้คนไทยเคยชินกับสภาพที่มีประชาชนใส่เสื้อสีต่างๆ ออกมาประท้วงบนถนน ในขณะที่ชาวจีนบางส่วนที่เคยมีประสบการณ์เจอขบวนประท้วงในประเทศไทย ก็มีความรู้สึกว่า ตนเองกำลังเดินเล่นในตลาดในช่วงเทศกาลวันหยุดของจีน ที่มีคนพลุกพล่านหนาแน่นไม่น้อยไปกว่ากัน

จีน: จากประเทศผู้ส่งออกสินค้าราคาถูก กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกเงินทุน

ข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รายงานว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 โครงการลงทุนของจีนในประเทศไทยที่ BOI ให้การอนุมัติ มีทั้งสิ้น 28 โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุน 18,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าการลงทุนของจีนในประเทศไทยในปี 2555 แม้จะยังห่างไกลจากตัวเลข 374,000 ล้านบาท ที่ญี่ปุ่นลงทุนในไทยในปี 2555 แต่ก็สะท้อนถึงแนวโน้มที่นักธุรกิจจีนจะก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดการลงทุนไทย

มูลค่าดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศจีนกำลังเปลี่ยนจากประเทศผู้ส่งออกสินค้าราคาถูก มาเป็นประเทศผู้ส่งออกเงินทุนรายใหญ่ของโลก ซึ่งนานาประเทศก็ล้วนต้องการดึงดูดเงินลงทุนก้อนใหญ่ก้อนนี้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ ประจำ สอท. ณ กรุงปักกิ่ง ได้กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนจีนว่า ประเทศไทยยินดีต้อนรับนักลงทุนจีน มาลงทุนในประเทศไทยในทุกสาขา โดยรัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน ทะลุหลัก 100,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2560

อะไรคือแรงจูงใจ

โดยทั่วไป วิสาหกิจจีนที่มีความมั่นคงในตลาดภายในประเทศแล้ว จึงจะมีความกล้าที่กระโจนออกจาก “Safety Zone” ภายในประเทศ เพื่อไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ โดยแรงจูงใจของนักลงทุนจีนในการไปลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่

1. การลงทุนภายในประเทศมีการแข่งขันรุนแรงเกินไป ทำให้ความเสี่ยงสูง และมองหาโอกาสดีในการลงทุนได้ยากขึ้น เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

2. เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินน้อยมาก ทำให้นักลงทุนจีนมีความมั่นใจในการลงทุน

                3. เงินหยวนแข็งค่าขึ้น ทำให้วิสาหกิจจีนได้เปรียบในการไปลงทุนในต่างประเทศ

นาย Xu Genluo ผู้จัดการใหญ่ บริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน จังหวัดระยอง ให้ความเห็นว่า การลงทุนในประเทศไทย ถึงแม้ต้นทุนการผลิตจะสูงกว่าในจีนร้อยละ 10 แต่ก็ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ด้วยตลาดต่างประเทศที่กว้างใหญ่ โอกาสจากการลงทุนในประเทศไทยที่นักลงทุนจีนมองเห็นนั้น ไม่ใช่เพียงศักยภาพของตลาดไทย ด้วยจำนวนประชากร 60 ล้านคน เท่านั้น แต่ยังหมายถึงมีตลาดอาเซียนที่มีขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนประชากร 600 ล้านคน และตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่าง สหรัฐอเมริกา และยุโรป

ในส่วนของการลงทุนในโครงการเมกกะโปรเจ็คของรัฐบาลไทย นอกจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลไทย ที่นักธุรกิจจีนล้วนจ้องตาเป็นมัน รัฐบาลไทยยังมีโครงการพัฒนาอีกหลายโครงการที่รอคิวอยู่ในอนาคต โดยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 รัฐสภาไทยได้อนุมัติแผนกู้เงิน  2 ล้านล้านบาท (ประมาณ 393,400 ล้านหยวน) เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ธนาคารกสิกรไทย เผยว่า สัดส่วนของงบประมาณในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สูงกว่าร้อยละ 39.20 ของงบประมาณทั้งหมด ทำให้นักธุรกิจจีนล้วนไม่อยากพลาดโอกาสทองนี้

เลือกสาขาในการลงทุนให้ถูกต้อง

เมื่อพิจารณาแล้วว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการลงทุนสูง  และตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย คำถามต่อมาก็คือ จะเข้ามาประเทศไทยได้อย่างไร และเมื่อเข้ามาแล้ว จะได้รับ “รอยยิ้มแบบไทยๆ” หรือไม่ คำบอกเล่าจากประสบการณ์ของนักธุรกิจจีนที่ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย คงจะเป็นคำตอบที่ให้ความกระจ่างแก่นักธุรกิจจีนรายใหม่ได้เป็นอย่างดี

นาย Ceng Lin ผู้จัดการใหญ่ China Southern Airlines สำนักงานกรุงเทพฯ แนะนำว่า ตลอดระยะเวลาที่มาลงทุนในประเทศไทย China Southern Airlines ไม่เคยเจออุปสรรคในด้านนโยบายเลย ประเทศไทยในฐานะประเทศที่เปิดเสรีด้านการท่องเที่ยวมานาน มีข้อบังคับต่างๆ น้อยกว่าในประเทศจีน ในประเด็นการควบคุมการบิน ก็ใช้มาตรฐานสากลกับทุกประเทศ

อานิสงส์จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปเที่ยวประเทศไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีมานี้ ส่งผลให้ผลประกอบการของ China Southern Airlines สำนักงานกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

นาย Xu Genluo ผู้จัดการใหญ่ บริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ไทย-จีน จังหวัดระยอง กล่าวว่า นักลงทุนจีนที่สนใจจะไปลงทุนในประเทศไทย ไม่ต้องกังวลกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองของไทย อีกทั้งสังคมไทยเป็นสังคมที่เจริญแล้ว ประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนา ทำให้คนไทยมีน้ำใจไมตรี ไม่อิจฉาริษยาคนที่มีฐานะร่ำรวย ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนจีนในการตัดสินว่าการลงทุนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็คือ ต้องเลือกลงทุนในสาขาที่ถูกต้องเท่านั้นเอง

ข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า สาขายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมแฟชั่น เกษตรกรรม บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาหาร และผลิตภัณฑ์จากยางพารา เป็นสาขาการลงทุนที่รัฐบาลไทยให้การส่งเสริม ในขณะเดียวกัน การลงทุนในสาขาทรัพยากร และการลงทุนที่จะก่อให้เกิดมลภาวะสูง เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Thai-China Nonferrous Metals International Co.,Ltd. ซึ่งไปลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2534 แต่ถูกสั่งให้ปิดโรงงาน เนื่องจากปัญหามลภาวะ และประชาชนที่อาศัยในบริเวณพื้นที่โรงงานก่อการประท้วง ต่อมา บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดตามกฏหมาย จนผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ในปี 2552 โดยนาย Mai Weidong ผู้บริหารของบริษัทฯ แนะนำว่า การลงทุนในประเทศไทย นอกจากการขออนุมัติความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ด้วย ดังนั้น การเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจึงเป็นการเลือกที่ดีที่สุด  

ปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมการทำธุรกิจแบบไทยๆ

เมื่อกำหนดสาขาที่จะลงทุน และมีสถานที่ที่จะดำเนินกิจการ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกแล้ว ลำดับต่อไป ในขั้นตอนของการดำเนินกิจการ ยังมีประเด็นปลีกย่อยที่จะต้องคำนึงถึงมีหลายประการ อาทิ คนงาน ระบบบัญชีและการเงิน ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งมีโอกาสเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ได้

นาย Wu Yong กรรมการผู้จัดการ บริษัท Haier Electronics Group ประจำประเทศไทยแนะนำว่า การไปเปิดตลาดในต่างประเทศ นักธุรกิจจีนจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำงานและวิธีการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องเหมาะสมกับประเทศที่ไปลงทุน เพราะหากยังนำระบบเดิมๆ ที่เคยใช้ในประเทศจีนมาใช้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะบริหารบริษัทลงทุนข้ามชาติให้ประสบความสำเร็จ

นาย Xu Genluo ผู้จัดการใหญ่ บริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ไทย-จีน จังหวัดระยอง กล่าวว่า นักธุรกิจจีนที่สนใจจะไปลงทุนในประเทศไทย จะต้องละทิ้งความคิดที่ว่าตนเป็นผู้เหนือกว่า แล้วพยายามทำตัวเป็นคนไทยคนหนึ่ง อุปสรรคใหญ่ที่สุดของการลงทุนในประเทศไทย ไม่ได้มาจากรัฐบาลไทย แต่มาจากตัวนักธุรกิจจีนเอง เนื่องจากปัจจุบัน วิสาหกิจจีนมีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จึงทำให้นักธุรกิจจีนมีความรู้สึกว่า ตนเป็นผู้เหนือกว่า ไม่ปรับแนวคิดของตนเองให้เข้าใจความคิดของคนไทย ไม่ใช้ระบบการบริหารแบบคนไทยในการบริหารแรงงานชาวไทย จนมักจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม และส่งผลกระทบต่อธุรกิจในท้ายที่สุด

นาย Xu Genluo ยกตัวอย่างความสำเร็จของคนจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยว่า บุคคลเหล่านี้ คิดว่าตนเองเป็นคนไทยคนหนึ่ง เห็นได้ชัดเจนอย่างเรื่องภาษา ทุกคนเริ่มต้นเรียนภาษาไทยเป็นภาษาแม่ จากนั้นจึงเรียนภาษาต่างประเทศอย่าง ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน

นาย Xu Genluo ปิดท้ายว่า ต่อให้คุณจะเป็นนักลงทุนระดับร้อยล้านพันล้าน ในเมื่อคุณเข้ามาหาโอกาสในประเทศไทย ใช้ประโยชน์จากประเทศไทย จึงเป็นเรื่องสมควรที่คุณจะต้องเคารพคนไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่นาย Xu Genluo จะย้ำกับนักธุรกิจทุกคนที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ไทย-จีน จังหวัดระยอง

สรุป

ปัจจุบัน นักธุรกิจจากมณฑลยูนนานยังไปลงทุนในประเทศไทยไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการลงทุนของจีนในประเทศไทย(ข้อมูลของ BOI) โดยในปี 2555 มีวิสาหกิจมณฑลยูนนานไปลงทุนในประเทศไทย 5 ราย มีการลงนามข้อตกลงการลงทุนมูลค่ารวมประมาณ 2 ร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่มีการลงทุนจริง 2 ราย ได้แก่ Haicheng Group ลงทุนในโรงแรมดาราเทวี จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่า 5.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และบริษัท สือหลินเทียนฉี จำกัด ของจีน ลงทุนร่วมกับบริษัท เหิงรุ่ย จำกัด ของไทย มูลค่า 1.9 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ข้อมูลจากกรมพาณิชย์ มณฑลยูนนาน)

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนในมณฑลยูนนานในการนำมาศึกษา เตรียมความพร้อม และวางแผนการลงทุนในประเทศให้ชัดเจน โอกาสในประเทศไทยยังเปิดกว้าง และชาวไทยยินดีต้อนรับนักลงทุนจีน