บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 8 ข้าวยูนนาน

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 8 ข้าวยูนนาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 473 view

เมื่อพูดถึงสินค้าไทยในประเทศจีน สินค้าไทยที่ติดหนึ่งในสิบและเป็นที่รู้จักอย่างมากของคนจีน คงหนีไม่พ้น “ข้าวหอมมะลิไทย” ข้าวหอมมะลิไทยส่วนมากนำเข้าจีนผ่านท่าเรือที่เซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เป็นหลัก

การนำเข้าข้าวจากต่างประเทศของจีนจะต้องได้รับโควตานำเข้าสินค้าเกษตรจากรัฐบาล ซึ่งมีผลให้เสียภาษีศุลกากรเพียงร้อยละ 1 แต่หากไม่ได้รับโควตาจะเสียภาษีร้อยละ 65 ที่ผ่านมาผู้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศของจีนรายเก่า ๆ มักกระจุกตัวอยู่ในมณฑลกวางตุ้งและเมืองเซินเจิ้น และในทางปฏิบัติ ผู้นำเข้ารายใหม่ก็มักประสบปัญหาเกี่ยวกับกฏระเบียบและขั้นตอนการขอโควตานำเข้าข้าว รวมถึงศักยภาพของบริษัทรายใหม่ที่ยังไม่เข้าตาคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) จึงทำให้ยากที่จะมีผู้นำเข้าข้าวรายใหม่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับตัวแทนผู้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งมีเพียงไม่กี่ราย ส่วนใหญ่จึงนำเข้าข้าวจากต่างประเทศโดยการซื้อต่อจากผู้นำเข้าที่มีโควตาหรือซื้อโควตาจากผู้มีสิทธิ์นำเข้าข้าวในมณฑลกวางตุ้ง

ปัจจุบัน ข้าวหอมมะลิไทยในคุนหมิงมีขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม  10 กิโลกรัม และ 25 กิโลกรัม โดยขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม มีจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปในนครคุนหมิง ซึ่งมียี่ห้อที่วางจำหน่ายไม่เกิน 10 ชนิด ราคาอยู่ในช่วง 90 -110 หยวน มีทั้งชนิดที่แพคมาจากเมืองไทย และรีแพคในจีน

สำหรับข้าวบรรจุ 10 และ 25 กิโลกรัม ส่วนใหญ่จะจำหน่ายในราคาส่งให้กับลูกค้าหลัก 2 ประเภท ได้แก่ ตัวแทนย่อย ซึ่งตัวแทนย่อยจะจำหน่ายให้กับพ่อค้าข้าวในตลาดทั่วไปและกลุ่มร้านค้าย่อยอีกทอด ลูกค้าที่สำคัญอีกกลุ่ม คือ โรงแรมระดับสี่และห้าดาว รวมถึงร้านอาหารไทย ร้านอาหารทะเล และร้านอาหารระดับบน

หากพูดถึงข้าวหอมมะลิไทย ชาวยูนนานรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวยูนนานที่ค่อนข้างมีฐานะ อีกทั้งชาวยูนนานมีความใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นอย่างดี ในปัจจุบัน ข้าวหอมมะลิไทยก็มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามวันเวลาเช่นกัน

คู่แข่งหมายเลขหนึ่ง---ข้าวคุณภาพดีจากภาคอีสานของจีน

ข้าวในยูนนานแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ข้าวอินดิกา (Indica,籼米) และข้าวจาปอนิกา (Japonica,粳米) โดยข้าวอินดิกามีลักษณะเมล็ดยาวรี ต้นสูง เมื่อหุงเสร็จจะมีความร่วน เป็นข้าวที่ปลูกในเขตร้อน เช่น จีนตอนใต้และตอนกลาง (ได้แก่ หูหนาน หูเป่ย กวางตุ้ง กว่างซี เจียงซี และเสฉวน) ศรีลังกา อินเดีย อินโดนีเชีย บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ส่วนข้าวจาปอนิกามีลักษณะเมล็ดป้อมกลมรี ต้นเตี้ย เมื่อหุงเสร็จจะมีความเหนียวนุ่ม เป็นข้าวที่ปลูกในเขตอบอุ่น เช่น จีนอีสาน (ได้แก่ เฮยหลงเจียง จี๋หลินและฮาร์บิน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกธัญพืชที่ใหญ่ที่สุดในจีน) ญี่ปุ่น และเกาหลี

ชาวยูนนานนิยมบริโภคข้าวจาปอนิกาถึงร้อยละ 95 ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากจีนอีสาน ส่วนข้าวอินดิกาบางส่วนนำมาจากต่างมณฑล และบางส่วนเป็นข้าวไทย เมียนมาร์ ลาวและเวียดนาม ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5

สำหรับข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเมียนมาร์ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ชนิดบรรจุถุงแพค ซึ่งมีการรีแพคในจีน ยังมียอดจำหน่ายน้อยมาก เนื่องจากไม่เป็นที่นิยม ราคาปลีกขนาด 5 กิโลกรัม จำหน่ายราว 35 หยวน ส่วนชนิดไม่บรรจุถุงแพค ราคาส่งจำหน่ายกิโลกรัมละ 3 หยวน ส่วนใหญ่จะจำหน่ายในปริมาณมากให้กับลูกค้าที่นำไปทำแป้งข้าวจ้าว หรือเส้นขนมจีนที่เรียกว่า “หมี่เซี่ยน” ซึ่งชาวยูนนานนิยมบริโภคอย่างมาก

ข้าวที่นำเข้าจากภาคอีสานของจีนและมีจำนวนผู้บริโภคมากที่สุดในยูนนาน เป็นข้าวระดับกลาง เช่น ข้าวเสี่ยวติง (小町) ราคาประมาณกิโลกรัมละ 4 - 6 หยวน ส่วนข้าวหอมระดับบนที่ชาวยูนนานนิยมบริโภค เช่น เต้าฮัวเซียง (稻花香) และ ฉางลี่เซียง (长粒香) มีราคาขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 8-10 หยวน ในขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 20 หยวน แพงกว่าเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวยูนนานก็ยังขาดความมั่นใจในข้าวบรรจุถุงที่ระบุว่าเป็นข้าวไทย เนื่องจากปัญหาการปลอมปนข้าวที่ผ่านมา โดยผู้นำเข้าจีนนำข้าวไทยมารีแพคใหม่ในจีน ซึ่งอาจรีแพคที่กว่างโจวหรือยูนนานก็ตาม รวมถึงการนำข้าวเมล็ดยาวชนิดอื่นที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาผสม เพื่อลดต้นทุนและจำหน่ายในแบรนด์ของตน เมื่อข้าวถึงมือผู้บริโภค ความหอมของข้าวซึ่งระบุว่าเป็นข้าวไทยจึงมีกลิ่นหอมลดลงและรู้สึกไม่ต่างจากข้าวหอมของจีน ทำให้ผู้บริโภคชาวยูนนานจำนวนมากไม่รู้จักคุณภาพและรสชาติที่แท้จริงของข้าวหอมมะลิไทย ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในตัวสินค้าของไทย แม้จะมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหาร (Quality Safe Mark: QS Mark) ของจีนก็ตาม ชาวยูนนานระดับบนจำนวนมากจึงหันไปบริโภคข้าวชนิดอื่นแทน โดยเฉพาะข้าวจากทางภาคอีสานของจีน ซึ่งข้าวหอมของจีนก็มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง และถูกปากชาวยูนนานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

หมายเหตุ

วิธีดูข้าวไทยชนิดที่แพคมาจากเมืองไทย และชนิดที่มีการรีแพคในจีน

                   ชมรูปข้างล่าง

ข้าวที่แพคจากไทย

ข้าวที่รีแพคในจีน

  1. บาร์โค้ดขึ้นต้นด้วย “885...”
  2. มีคำว่า “Product of Thailand”
  3. มีเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยจากกระทรวงพาณิชย์
  1. บาร์โค้ดขึ้นต้นด้วย “69...”
  2. มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหาร (Quality Safe Mark: QS Mark) ของจีน

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ