บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 9 เบียร์ไทยในยูนนาน

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 9 เบียร์ไทยในยูนนาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 633 view

ปัจจุบัน การเดินทางจากประเทศไทยไปยังจีนตอนใต้มีความสะดวกรวดเร็วกว่าอดีตเป็นอย่างมาก โดยชายแดนไทยที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย อยู่ห่างจากชายแดนยูนนานที่ด่านบ่อหาน เขตฯ สิบสองปันนา ไม่ถึง 250 กม. การคมนาคมทางบกที่คล่องตัวบนเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) รวมถึงการขนส่งทางน้ำระหว่างท่าเรือจิ่งหง(ยูนนาน)-ท่าเรือเชียงแสน(ไทย) ที่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ เมื่อมีการรักษาความปลอดภัยในแม่น้ำโขง ล้วนส่งผลให้สินค้าไทยขนส่งเข้าสู่จีนตอนใต้ได้สะดวกขึ้น

นอกจากข้าวหอมมะลิไทย ผลไม้ไทย และสินค้าหัตถกรรม ซึ่งทุกท่านทราบกันดีว่า ได้เข้ามาทำตลาด ยูนนานเป็นเวลานานแล้ว และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวยูนนานเป็นอย่างดี นั้น สินค้าไทยตัวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในยูนนานอย่างเงียบๆ และ BIC คุนหมิง เอาใจช่วยอยู่ก็คือ เบียร์ไทย

ตลาดเบียร์ในยูนนาน

มณฑลยูนนานมีบริษัทเบียร์รายใหญ่ 4 บริษัท ได้แก่ จินซิง (Kingstar Beer) เอี้ยนจิง (Yanjing Beer) หลานชางเจียง (Lancang River) และ Carlsberg ครองสัดส่วนทางการตลาดในมณฑลยูนนานรวมกว่าร้อยละ 60 โดยเบียร์จินซิงและ Carlsberg ซึ่งเป็นสองยี่ห้อที่ครองใจคนยูนนานมากที่สุด มีสัดส่วนตลาดยูนนานรวมกันกว่าร้อยละ 40

เบียร์หลานชางเจียง หรือที่คนไทยเรียกว่า เบียร์ล้านช้าง ตามชื่อแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านจีน เป็นเบียร์ท้องถิ่นเก่าแก่สัญชาติยูนนาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2528 ปัจจุบันมีโรงงานเบียร์ในยูนนาน 4 แห่ง ที่เมืองหลินชาง เมืองเป่าซาน เมืองผูเอ่อร์ และเขตฉู่สง แต่ส่วนแบ่งการตลาดในระยะหลังเริ่มหดตัวลง เนื่องจากโดนบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่อีก 3 บริษัทที่กล่าวมาแล้วข้างต้นแย่งชิงตลาด และยังมีเบียร์ยักษ์ใหญ่ของจีนยี่ห้อ Snow ซึ่งครองยอดขายอันดับ 1 ของจีน เข้ามาขอแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดในมณฑลยูนนานด้วย

เบียร์จินซิง ซึ่งถือกำเนิดจากมณฑลเหอหนาน เข้ามาตั้งโรงงานที่มีกำลังการผลิต 200 ล้านลิตร/ปีในเขตสิบสองปันนาตั้งแต่ปี 2546 โดยเป็นที่นิยมของนักดื่มในเขตฯ สิบสองปันนา เมืองผูเอ่อร์ และเมืองหลินชาง รวมทั้งส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและลาวด้วย

เบียร์ Carlsberg สัญชาติเดนมาร์ก มีโรงงานที่คุนหมิงและต้าหลี่ โดย Carlsberg ได้ซื้อโรงงานเบียร์ต้าหลี่ในปี 2546 ดำเนินการผลิตเบียร์ยี่ห้อ Dali (大理啤酒) และ Wind Flower Snow&Moon (风花雪月) นอกจากนี้ยังวางแผนสร้างโรงงานในยูนนานอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1.6 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2568 คาดว่าเฟสแรกของโรงงานเบียร์ขนาดใหญ่ของ Carlsberg ในนิคมอุตสาหกรรมต้าหลี่ ที่มีกำลังการผลิต 1 ล้านตัน/ปี จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558

และผู้ผลิตเบียร์น้องใหม่รายที่ 4 ในมณฑลยูนนาน เบียร์เอี้ยนจิง ซึ่งเป็นที่นิยมอันดับ 4 ของจีน (รองจากเบียร์ Snow เบียร์ Tsingtao (ชิงเต่า) และเบียร์ Budweiser) ได้เริ่มต้นก่อสร้างโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมซงหมิง นครคุนหมิง กำลังการผลิต 200 ล้านลิตร/ปี เมื่อเดือนธันวาคม 2553

สำหรับเบียร์ที่ครองตลาดกลางคืน ส่วนใหญ่เป็นเบียร์ต่างชาติ เช่น Budweiser จากสหรัฐฯ Carlsberg จากเดนมาร์ก และ Heinekens จากเนเธอร์แลนด์ เพราะดื่มแล้วให้ความรู้สึกที่ทันสมัยกว่า โดยเฉพาะ Budweiser ครองแชมป์ตลาดกลางคืนอันดับ 1 ในนครคุนหมิงกว่าร้อยละ 30

โอกาสของเบียร์ไทยในยูนนาน

ยูนนานนับเป็นตลาดเบียร์ที่น่าสนใจ เนื่องจากยูนนานเป็นประตูหน้าด่านในการเชื่อมไปสู่ภาคตะวันตกของจีนที่มีประชากรรวม 500 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37 ของประชากรจีนทั้งประเทศ ผลผลิตมวลรวม (GDP) ของทั้ง 12 มณฑลภาคตะวันตกมากกว่า 11 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 22 ของ GDP ของจีน ขยายตัวจากปี 2554 มากกว่าร้อยละ 14  และนับวันกำลังซื้อของคนยูนนานและจีนตะวันตกก็เพิ่มขึ้นตามการเร่งพัฒนาภาคตะวันตกระลอก 2 ของจีน

ปี 2555 มณฑลยูนนานมีกำลังการผลิตเบียร์ 886 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 16.9 อัตราการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลเหอหนาน (จีนมีกำลังการผลิตเบียร์ 49,018 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจาก

ปี 2554 ร้อยละ 3.1) นอกจากนี้ คนจีนดื่มเบียร์โดยเฉลี่ยปีละ 36 ลิตร ในขณะที่คนยูนนานดื่มเบียร์โดยเฉลี่ยปีละ 18 ลิตร สิ่งเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า ตลาดเบียร์ในยูนนานยังสามารถที่จะขยายได้อีกมาก

ในจังหวะที่กระแสความนิยมไทย โดยเฉพาะดาราไทย (T-Pop) กำลังมาแรงในหมู่คนจีน จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของสินค้าไทยหลายชนิด ดังสำนวนจีนที่ว่า ”趁热打铁 [chènrè dǎtiě] ตีเหล็กเมื่อร้อน” ซึ่งสามารถส่งเสริมความนิยม สร้างแบรนด์ และเพิ่มยอดขายสินค้าไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทย

ความท้าทายของเบียร์ไทยในยูนนาน

ปัจจุบัน เบียร์ช้าง และเบียร์สิงห์ ได้ยกทัพเบียร์ไทยบุกตลาดยูนนานแล้ว โดยทำการตลาดผ่านตัวแทนจำหน่ายชาวจีน แต่ดูเหมือนการเจาะตลาดยูนนานของเบียร์ไทย รวมถึงตลาดเบียร์ภาพรวมในจีนตอนใต้ และจีนตะวันตก ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีคู่แข่งจำนวนมาก อาทิ เบียร์จีน เบียร์ท้องถิ่น เบียร์ต่างชาติ และเบียร์จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เบียร์ลาว ที่กลับทำตลาดได้ดีกว่า ด้วยสโลแกนสุดเท่ห์ “เบียร์ลาว เบียร์ของคนลาว คนจริงใจ” และมีโฆษณาในเว็บไซต์จีนผ่านตัวแทนจำหน่ายในมณฑลยูนนานและใน

เขตฯ กว่างซี ที่นำเสนอเบียร์ลาวและวัฒนธรรมประเทศลาวแบบได้ใจไปเต็มๆ (http://www.beerlaochina.com/ และ http://www.china-beerlao.com/index.php ) เปรียบเทียบกับการทำตลาดของเบียร์ไทยในยูนนานที่ยังคงเน้นจำหน่ายผ่านร้านอาหารไทยเป็นหลัก แม้ปัจจุบันจะมีร้านอาหารไทยเพิ่มมากขึ้นในยูนนาน ซึ่งเบียร์ไทยก็สามารถเข้าไปเป็น combination ในมื้ออาหารได้อย่างลงตัว แต่หากเบียร์ไทยต้องการจะเป็นเบียร์ในดวงใจอย่างแท้จริงของคอนักดื่มชาวยูนนาน ก็คงต้องออกแรงฮึดอีกเยอะเลยทีเดียว

การขยายธุรกิจเบียร์ในจีนจำเป็นต้องวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม  เพราะหนึ่งมณฑลเทียบเท่าหนึ่งประเทศ แต่ละมณฑล แต่ละเมือง ผู้บริโภคก็มีลักษณะแตกต่างกันไป แม้แต่เบียร์ชิงเต่าที่มียอดจำหน่ายติดอันดับ 2 ของจีน ยังทำตลาดในยูนนานได้ไม่ดีนัก คนจีนบริโภคเบียร์หลากหลายยี่ห้อ การดื่มเบียร์ของคนจีนอาจแตกต่างจากคนไทย เพราะคนจีนนั้น ดื่มเหล้า ดื่มเบียร์เพียวๆ เป็นช็อตเล็กๆ ไม่ใส่น้ำแข็ง และเบียร์จีนมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำกว่าเบียร์ไทยมาก (เบียร์จีนเฉลี่ย 2-3 ดีกรี เบียร์ไทยเฉลี่ย 5-6 ดีกรี เบียร์ลาว 5 ดีกรี และเบียร์ต่างประเทศเฉลี่ย 3-4 ดีกรี) จึงต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคจีนและทำความเข้าใจกับตลาดจีนอย่างถ่องแท้