บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 16 ยูนนาน...อาณาจักรดอกไม้และแหล่งประมูลดอกไม้สดนานาชนิด ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2557 ตอนที่ 16 ยูนนาน...อาณาจักรดอกไม้และแหล่งประมูลดอกไม้สดนานาชนิด ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 1,142 view

มณฑลยูนนานมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จนได้รับสมญานามว่า "อาณาจักรแห่งพันธุ์ไม้”ขณะเดียวกัน นครคุนหมิง ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลยูนนาน ก็ได้รับฉายาว่าเป็น “เมืองดอกไม้แห่งเอเชีย” น้อยคนที่จะรู้ว่า ยูนนานยังเป็นแหล่งของดอกไม้ติด 1 ใน 4 ผกามีชื่อของจีนอีกด้วย ซึ่งได้แก่

  • ราชาดอกไม้ ดอกโบตั๋นแห่งเมืองลั่วหยาง ในมณฑลเหอหนาน
  • ดอกเบญจมาศที่นครหังโจว มณฑลเจ้อเจียง
  • ดอกสุ่ยเซียน (chinese narcissus,水仙) ที่เมืองจางโจว ในมณฑลฝูเจี้ยน
  • ดอกชาภูเขา (Common Camellia ,山茶花) ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำมณฑลยูนนานและนครคุนหมิงอีกด้วย ตัวดอกคล้ายกับดอกโบตั๋น เบ่งบานสะพรั่งในฤดูใบไม้ผลิช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งนครคุนหมิงได้มีการจัดงาน “เทศกาลดอกชาภูเขา” ในเดือนมีนาคมของทุกปี ดอกชาภูเขาใช้ทำยาได้ มีรสหวานอ่อน ๆ มีสรรพคุณกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ลดไขมันในเลือด ช่วยให้ผ่อนคลายและนอนหลับ

ยูนนาน อาณาจักรดอกไม้แห่งเอเชีย

มณฑลยูนนานมีพื้นที่ปลูกดอกไม้กว่า 7 แสนหมู่ (เกือบ 3 แสนไร่) มูลค่าประมาณ  2.7 หมื่นล้านหยวน ดอกไม้ขึ้นชื่อในยูนนานมี 8 ชนิด ได้แก่ ดอกชาภูเขา ดอกยวี่หลาน (Magnolia ,玉兰花) ดอกไป้เหอ (Lily,百合)
ดอกตู้เจวียน (Indian Azalea,杜鹃花) ดอกเป้าชุน (Primula malacoides,报春花) ดอกลวี่หรงฮาว (Meconopsis,绿绒蒿) ดอกกล้วยไม้ และดอกหลงต่าน (Gentiana scabra Bunge,龙胆花) ซึ่งบางชนิดเรียกได้ว่ามีแหล่งกำเนิดในยูนนาน และบางชนิดปลูกมากที่สุดในยูนนาน

จุดเด่นด้านดอกไม้ของยูนนาน อยู่ที่ไม้ตัดดอก (Cut Flowers) การผลิตไม้ตัดดอกในปัจจุบันมีมากกว่า 7,200 ล้านดอกต่อปี มากที่สุดในจีนติดต่อกันนาน 19 ปี และกลายเป็น “เขตผลิตไม้ตัดดอกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย"

ช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ยูนนานส่งออกไม้ตัดดอก 3,660 ตัน มูลค่า 110 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 31 ของมูลค่าส่งออกไม้ตัดดอกทั้งหมดของจีน โดยส่งออกไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก แหล่งส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย สิงคโปร์ รัสเซีย ฮ่องกง และออสเตรเลีย

ไม้ตัดดอกที่มีชื่อเสียงของยูนนานมี 4 ชนิด ได้แก่ กุหลาบ คาร์เนชั่น ลิลลี่ และเยอร์บีร่า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของไม้ตัดดอกในมณฑลยูนนาน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นดอกไม้ทั้ง 4 ชนิดนี้ตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกมากในคุนหมิง ยวี่ซี่ ต้าลี่ ลี่เจียง เป่าซาน ฉู่สง สิบสองปันนา และหงเหอ

ยูนนานไม่ใช่แหล่งที่มีพื้นที่ปลูกดอกไม้มากที่สุดในจีน แต่ดอกไม้ของยูนนานได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพและราคาถูก เช่น กุหลาบเกรด A ราคาช่อละ (20 ดอก) 11-25 หยวน เกรด B ช่อละ 9-22 และเกรด C ช่อละ 6-18 หยวน (ราคาเมื่อต้นเดือน ส.ค. 2557) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ชนิดและสีของกุหลาบ

ไม้ตัดดอกดาวรุ่งชนิดอื่นที่ได้รับความนิยมในยูนนาน ได้แก่ ไลซิแอนทัส (Lisianthus ลักษณะคล้ายดอกคาร์เนชั่นผสมกับดอกกุหลาบ) ไฮเดรนเยีย (Hydrangea) กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส (phalaenopsis orchid) และดอกเบญจมาศ
ส่วนดอกไม้แซมที่ใช้เสริมกับดอกไม้หลักที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวจีน เช่น ยิปโซพิลล่า ช้อยนางรำ และ Forget me not

นอกจากยูนนานจะมีชื่อเสียงเรื่องไม้ตัดดอกแล้ว อุตสาหกรรมการแปรรูปดอกไม้ก็ไม่เป็นสองรองใคร ในแต่ละปีมีมูลค่าการผลิตกว่า 6,000 ล้านหยวน โดยใช้ดอกไม้มาแปรรูปเป็นทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ยารักษาโรค และสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย

ไม่กี่ปีมานี้ ดอกกุหลาบเพื่อใช้รับประทาน (食用玫瑰) ในมณฑลยูนนานมีการพัฒนาและเติบโตในตลาดอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 30,000 หมู่ (12,500 ไร่) ทั้งในคุนหมิง ฉวี่จิ้ง หงเหอ ลี่เจียง และตี๋ชิ่ง โดยนำมาแปรรูปเป็นอาหารหลากหลายชนิด อาทิ ขนมเปี๊ยะไส้กุหลาบ ชากุหลาบ ลูกอมกุหลาบ แยมกุหลาบ และน้ำผึ้งกุหลาบ โดยเฉพาะขนมเปี๊ยะไส้กุหลาบ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของฝากของนครคุนหมิง ที่ไม่ว่าใครไปใครมาก็ต้องซื้อกลับไป 

เยี่ยมชมตลาดประมูลดอกไม้  ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ฉายา อัลซเมียร์แห่งทิศตะวันออก

นครคุนหมิงมีตลาดค้าส่งดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เรียกว่า ตลาดค้าส่งดอกไม้โต่วหนาน (斗南) ภายในตลาดโต่วหนานมีบริษัทศูนย์กลางการค้าและการประมูลดอกไม้นานาชาตินครคุนหมิง (Kunming International Flora Auction Trading Center :KIFA 昆明国际花卉拍卖交易中心有限公司) เพื่อใช้จัดการกับอาณาจักรดอกไม้ที่มาจากทุกสารทิศ ทั้งจากจีนและต่างประเทศ รวมถึงกล้วยไม้จากประเทศไทย

KIFA เป็นตลาดประมูลดอกไม้ ที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของเอเชียในแง่ของปริมาณดอกไม้ หากมองมูลค่าติดอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น และติดอันดับ 7 ของโลก เปิดดำเนินการเมื่อปี 2545 เป็นกิจการรัฐวิสาหกิจ ที่มีเอกชนลงทุนร้อยละ 51 และภาครัฐร้อยละ 49 โดยมีการประมูลดอกไม้วันละ 2-3 ล้านดอก หรือ ประมาณ 1 ล้านหยวน/วัน

KIFA ได้ใช้เทคโนโลยีการจัดการกับระบบการประมูลจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้ระบบการประมูลทันสมัย ครบวงจร  และมีมาตรฐานสากล เทียบเคียงกับยุโรป ดั่งเช่นตลาดประมูลอัลซเมียร์ ตลาดประมูลดอกไม้ในเนเธอร์แลนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ เพื่อให้สมกับฉายา อัลซเมียร์แห่งทิศตะวันออก

ช่วงเช้าของแต่ละวัน บริษัทจำหน่ายดอกไม้จะลงทะเบียนกับ KIFA และนำดอกไม้ซึ่งบรรจุแพคเรียบร้อย เข้าไปเก็บในโกดังที่กำหนดไว้ และช่วงเย็น ผู้เข้าประมูลดอกไม้จะเข้าไปตรวจดูดอกไม้ในโกดัง โดยดูลักษณะของดอกไม้ และจดตำแหน่งของหมายเลขดอกไม้ที่ต้องการไว้ เพื่อเตรียมประมูลในเวลา 19.00-21.00 น. หลังการประมูลเสร็จสิ้น ผู้เข้าประมูลดอกไม้จะขนส่งและกระจายสินค้าให้หมดในคืนนั้น จุดเด่นของ KIFA คือ บริษัทจำหน่ายดอกไม้และผู้เข้าประมูลที่เป็นรายเล็กรายย่อยก็สามารถเข้าร่วมการประมูลได้

ภายในห้องประมูลมีที่นั่งสำหรับผู้เข้าประมูลประมาณ 500 ที่นั่ง และนาฬิกาแจ้งราคาประมูล 4 เรือน ซึ่งจะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อดอกไม้ ตำแหน่งที่วางดอกไม้ในโกดัง รหัสโรงงานและประเทศที่ผลิต ราคา จำนวนดอกไม้ และจำนวนกระถาง รวมไปถึงปัญหาและตำหนิของดอกไม้ การกำหนดราคาประมูลจะเริ่มจากสูงไปหาต่ำ โดย KIFA จะกำหนดราคาเริ่มต้นให้สูงกว่าราคาตลาดเล็กน้อย ผู้เข้าประมูลถูกใจที่ราคาเท่าไร ก็กดปุ่มที่โต๊ะนั่งของตนเองได้ทันที

ดอกไม้ที่นำเข้าไปประมูลกับ KIFA ร้อยละ 90 เป็นดอกไม้ภายในประเทศ ในจำนวนนี้ เป็นดอกไม้จากยูนนานถึงร้อยละ 80 และอีกร้อยละ 10 มาจากต่างประเทศ ดอกไม้ที่นำมาประมูลส่วนใหญ่เป็นดอกกุหลาบ รองลงมาคือ เยอร์บีร่า ยิบโซพิลล่า และคาร์เนชั่น สำหรับดอกไม้ที่เหลือจากการประมูล ซึ่งมีประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี บริษัทที่นำดอกไม้มาประมูลสามารถนำดอกไม้กลับไป หรือ เก็บไว้ประมูลในวันถัดไป

ความหวังของกล้วยไม้ไทยในจีน บนความร่วมมือกับ KIFA

Mr. Dong รองผู้จัดการใหญ่ KIFA เล่าให้ฟังว่า เมื่อเดือน ก.พ. 2557 สมาคมส่งออกกล้วยไม้ไทยได้นำกล้วยไม้เข้ามาทดลองการประมูลในตลาดแห่งนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยในเดือน ส.ค. 57 จะมีกล้วยไม้ไทยสัปดาห์ละ 2 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 5-6 หมื่นดอก เข้ามาประมูลที่ KIFA อีกครั้ง

และภายใต้ความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ยังได้นำกล้วยไม้ไทยไปอวดความงดงามที่มณฑลซูโจว โดยขนส่งตู้เย็นผ่านเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) ระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร เดินทางต่อเนื่องกว่า 72 ชั่วโมง ถือเป็นการชิมลางและทดสอบตลาดในแดนมังกร ซึ่งชาวจีนต่างชื่นชมและให้ความสนใจกล้วยไม้ไทยอย่างมาก 

การประมูลกล้วยไม้ไทยผ่าน KIFA ผู้ประกอบการไทยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่จีนด้วยตนเอง  KIFA จะทำหน้าที่เสมือน “คนกลาง” โดยจัดการรับดอกไม้ที่ปลายทาง จำหน่ายผ่านการประมูล รับเงิน และโอนเงินผ่านธนาคารให้ฝ่ายไทย แน่นอนว่าสิ่งที่ KIFA จะได้รับคือ ค่าบริหารจัดการ แต่นั้นก็แลกมาซึ่งการลดปัญหาด้านภาษาและการตลาดให้กับผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทยเช่นกัน

ในอนาคต KIFA จะนำกล้วยไม้ไทยประมูลผ่านระบบออนไลน์ หรือที่เรียกว่า E-Commerce บนเว็บไซต์ www.kifaonline.com.cn ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กล้วยไม้ไทยจะกระจายสู่ตลาดโลก นอกเหนือจากจำหน่ายผ่านการประมูลในมณฑลยูนนาน