บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2558 ตอนที่ 4 “ฉู่เฉิง” ส้มเช้งติดรหัสของยูนนาน ต้นแบบการยกระดับผลไม้ไทย

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2558 ตอนที่ 4 “ฉู่เฉิง” ส้มเช้งติดรหัสของยูนนาน ต้นแบบการยกระดับผลไม้ไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 857 view

เทศกาลไหว้พระจันทร์ในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วงของทุกปี เป็นภาพชินตาที่คนจีนส่วนใหญ่กำลังสาละวนกับการเลือกซื้อขนมไหว้พระจันทร์หลากรสหลายรูปแบบ ทั้งเพื่อเป็นของกำนัลมอบให้ญาติมิตร ผู้บังคับบัญชา หรือคู่ค้า ทั้งเพื่อรับประทานเองในครอบครัว

ด้วยกระแสรักสุขภาพที่กำลังมาแรง ทำให้ระยะหลายปีมานี้ คนจีนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะมอบผลไม้เป็นของขวัญในเทศกาลไหว้พระจันทร์ กอปรกับฤดูใบไม้ร่วงของจีนเป็นช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งผู้รับก็มีความยินดีที่ไม่ต้องปวดหัวกับการหาวิธีกำจัดขนมไหว้พระจันทร์กองพะเนินอย่างปีที่ผ่านมา บทความฉบับนี้ขอนำเสนอ ส้มเช้ง “ฉู่เฉิง” ที่ได้รับความนิยมเพราะคุณภาพอันเกิดจากการใช้วิทยาการเกษตร และการตลาดการบริหารจัดการที่มีชั้นเชิง ควรค่าที่ประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรอย่างไทยควรศึกษาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาตนเองต่อไป

กำเนิด “ฉู่เฉิง”

“เฉิง” (橙) เป็นภาษาจีนกลาง สำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า “เช้ง” ซึ่งก็คือ ส้มเช้งที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี  “ฉู่เฉิง” เป็นส้มเช้งทรงกลมมน ผิวเกลี้ยง สีเหลืองส้ม ขนาดเท่ากัน บรรจุอยู่ในกล่องที่ออกแบบ อย่างสวยงาม หากสังเกตให้ดีจะพบรหัสสลักอยู่บนผลส้ม ซึ่งรหัสที่ว่านี้ มีความสำคัญในการช่วยป้องกันการปลอมแปลงสินค้า เพราะหากจะปลอมให้เหมือนก็ต้องยอมลงทุนซื้อเครื่องจักรราคาหลักล้าน นอกจากนี้ รหัสยังระบุอีกว่า สินค้าล็อตไหนส่งมอบให้ตัวแทนจำหน่ายรายใด หากพบปัญหาก็สามารถตรวจสอบได้ทันที

ผู้ให้กำเนิด “ฉู่เฉิง” มีชื่อว่านายฉู่ สือเจี้ยน (褚时健) ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวถึงในสังคมจีนว่า “คนเก่ง ไม่ได้ดูจากการที่อยู่สูงแค่ไหน แต่ดูที่เมื่อตกลงมาแล้ว จะยืนขึ้นมาอีกได้หรือไม่” ยูนนานเป็นมณฑลที่เพาะปลูกยาสูบมากที่สุดของจีนก็จริง แต่อุตสาหกรรมยาสูบของมณฑลยูนนานมีชื่อเสียงเป็นอันดับหนึ่งของจีนได้ก็เพราะบุคคลท่านนี้

การเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการโรงงานยาสูบเมืองยวี่ซี มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีน เมื่อปี ค.ศ. 1979 นับเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตในอุตสาหกรรมยาสูบของนายฉู่ นายฉู่ใช้ระยะเวลาเพียง 15 ปีในการพลิกฟื้นโรงงานยาสูบที่ใกล้ล้มละลาย ให้มีสินทรัพย์มากกว่า 7,000 ล้านหยวน ชำระภาษีให้รัฐบาลเกือบ 20,000 ล้านหยวน/ปี ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างแบรนด์ “หงถ่า” (红塔) ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดสูงกว่า 30,000 ล้านหยวน จนได้รับสมญานามว่า “ราชายาสูบแห่งเอเชีย”

ระหว่างปี ค.ศ. 1995 - 2001 ชีวิตของนายฉู่และครอบครัวต้องเผชิญวิกฤติซึ่งเกิดจากปัญหาทางการเงิน ถือเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดในชีวิตของนายฉู่ จนกระทั่งปี ค.ศ. 2002 นายฉู่ได้ตัดสินใจเช่าที่ดินรกร้างในเมืองยวี่ซี นำมาปรับปรุงสภาพดินเพื่อเพาะปลูกส้มเช้ง โดยได้ทดลองพัฒนาสายพันธุ์ ใช้วิทยาการทางการเกษตร ควบคุมการให้ปุ๋ยและปัจจัยภายนอกต่างๆ 10 ปีให้หลัง “ฉู่เฉิง” ก็ทำให้นายฉู่กลายเป็น “ราชาส้มเช้ง” ของจีน

ยี่ห้อ “หยุนกว้าน” แต่คนจีนนิยมเรียก “ฉู่เฉิง”

“ฉู่เฉิง” คือส้มเช้งสายพันธุ์ “ปิงถาง” (冰糖) แปลว่า “น้ำตาลกรวด” สื่อความหมายว่ามีรสชาติหวานปานน้ำตาลกรวด “ปิงถางเฉิง” เป็นส้มเช้งที่พบได้ทั่วไปในจีน โดยนายฉู่นำมาตอนกิ่งติดตาผสมกับส้มสายพันธุ์อื่นที่มีลักษณะเด่น ให้การดูแลบำรุงรักษาอย่างดี ควบคุมอุณหภูมิ แดด น้ำ และปุ๋ย จนเกิดเป็นผลผลิตชั้นเลิศ

บนกล่องบรรจุส้มมีตัวอักษรระบุชัดเจนว่า ส้มชนิดนี้คือส้มเช้ง “ปิงถาง” ยี่ห้อ “หยุนกว้าน” (云冠) แต่เนื่องจากผู้บริโภคทราบดีว่านี่คือ ส้มเช้งของนายฉู่ จึงนิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ฉู่เฉิง”

เมื่อพูดถึงเรื่องราวของประเทศจีน ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงความสามารถทางการค้าและการลอกเลียนแบบของพ่อค้าแม่ขายชาวจีน เมื่อ “ฉู่เฉิง” คือส้มเช้ง “ปิงถาง” ที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายี่ห้อ “หยุนกว้าน” แต่คำว่า “ฉู่เฉิง” เป็นชื่อเรียกที่ไม่ได้จดลิขสิทธิ์ ตามท้องตลาดจึงปรากฏ “ฉู่เฉิง” ปลอมวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปในช่วงเดียวกันกับที่ “ฉู่เฉิง” ของแท้ออกสู่ตลาด โดยแปะป้ายโฆษณาว่า “ฉู่เฉิง” และนำกล่องส้ม “ฉู่เฉิง” ของแท้ยี่ห้อ “หยุนกว้าน” วางไว้ด้านข้าง หากผู้ซื้อไม่สังเกตให้ดี ก็คิดว่าเป็น “ฉู่เฉิง” ของแท้ และหลงซื้อไป หากผู้ซื้อรายใดช่างสังเกต ผู้ค้าก็จะอ้างว่า ส้มเช้งกองนี้เป็น “ฉู่เฉิง” แท้ แค่ไม่ใช่ยี่ห้อ “หยุนกว้าน” เท่านั้นเอง (ซึ่งก็คือส้มเช้งธรรมดา) ส่วนในกล่องคือ “ฉู่เฉิง” ยี่ห้อ “หยุนกว้าน” ต้องการชนิดไหนก็เลือกได้ตามใจชอบ ดังนั้น คนไทยที่มาเรียน ทำงาน หรือท่องเที่ยวในจีน หากจะซื้ออะไรก็ต้องระวังและมีนิสัยช่างสังเกตเพื่อไม่ให้โดนหลอก

ขายเกลี้ยงภายในเดือนเดียว เกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคา

ปัญหาใหญ่ของสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดคือ มีระยะเวลาในการเก็บรักษาสั้น เน่าเสียง่าย ส่งผลให้เกษตรกรผู้ผลิตไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาสินค้า ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา หากไม่ขายและปล่อยให้เวลาผ่านไป สินค้าก็เน่าเสีย ยิ่งขายไม่ได้ราคา

แต่ “ฉู่เฉิง” กลับไม่ประสบปัญหาดังกล่าว โดยนับตั้งแต่ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดวันแรกจนขายหมดใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ที่สำคัญคือ ผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดราคาขายส่งให้แก่ตัวแทนจำหน่าย และยังกำหนดราคาขายปลีกที่เหมาะสมว่าไม่ควรเกินกี่หยวนต่อกิโลกรัม หากพบว่ามีการขายเกินราคาที่กำหนด ผู้ผลิตสามารถตรวจสอบจากรหัสบนผลส้มว่าสินค้าล็อตนี้เป็นของตัวแทนจำหน่ายรายใด และดำเนินการลงโทษโดยเพิกถอนสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเป็นการควบคุมที่ได้ผลดี เนื่องจากผลประโยชน์จากการขายเกินราคาเทียบไม่ได้เลยกับผลประโยชน์จากการเป็นตัวแทนจำหน่าย “ฉู่เฉิง”

ปี ค.ศ. 2014 มีผลผลิต “ฉู่เฉิง” ออกสู่ท้องตลาดประมาณ 9,000 ตัน ลดลงจากปีก่อนกว่าร้อยละ 20 ส่งผลให้ราคาขายส่งและปลีกสูงขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 30 แม้ราคาจะสูงขึ้น แต่ก็ขายหมดในระยะเวลาอันรวดเร็วเช่นทุกปี

ผลไม้ไทยมีดี แต่หนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆ

คนไทยมีความโชคดีที่มีพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ มีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย มีผลไม้รสชาติดีรับประทานตลอดปี อีกทั้งยังได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ชนิดที่ว่าให้เอ่ยชื่อผลไม้ที่ชื่นชอบ 3 ชนิด ต้องมีชื่อผลไม้ไทยติดอันดับผลไม้ในดวงใจของชาวจีนแทบทุกคน

แต่ทุกปีเราๆ ท่านๆ ต้องได้ยินข่าวทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่า ผลไม้ไทยล้นตลาด ราคาตกต่ำ ขอความร่วมมือคนไทยช่วยกันบริโภคเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร หรือหนักหนาถึงขั้นที่ว่า เกษตรกรจะออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ ผลไม้ไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วไปโลก เหตุใดจึงต้องเผชิญปัญหาเช่นนี้ทุกปี

การเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวอย่างไม่มีการควบคุมและขาดการบริหารจัดการที่ดี กอปรกับเกษตรกรไทยมักเลือกปลูกผลไม้ตามกระแส ผลไม้ชนิดไหนขายได้ราคาดี ก็แห่ปลูกตามกันโดยไม่ยึดหลักการของ "การตลาดนำหน้าการผลิต" เมื่อผลผลิตออกสู่ท้องตลาดพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาตกต่ำ อาทิ ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง มังคุด มะม่วง เงาะ ไม่เว้นกระทั่งราชาแห่งผลไม้อย่างทุเรียน

จริงๆ แล้วประเทศไทยมีผลไม้หลายชนิดที่มีชื่อเสียง แต่ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ชนิดที่ว่าต้องสั่งจองกันล่วงหน้า อาทิ ทุเรียนเมืองนนท์ ทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแล อย่างไรก็ตาม การมีผลไม้เหล่านี้ไม่เพียงพอในแต่ละฤดูกาล เป็นเพราะเกษตรกรผลิตได้น้อย มิใช่มาจากการวางแผนควบคุมการผลิต อีกทั้งยังไม่มีการนำวิทยาการเกษตรมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพ และใช้การตลาดการบริหารจัดการมาส่งเสริมการขายอย่างมีประสิทธิภาพ

ยกระดับผลไม้ไทย

การยกตัวอย่างการแจ้งเกิดของ “ฉู่เฉิง” เพื่อต้องการให้เกษตรกรไทยเห็นว่า ท่ามกลางส้มเช้งจีนมากมายหลายสายพันธุ์ “ฉู่เฉิง” ก็สามารถแจ้งเกิดได้ทั้งที่มีราคาสูงกว่าส้มเช้งทั่วไป ผลไม้ไทยหลายชนิดก็มีโอกาสแจ้งเกิดเช่นเดียวกัน “ส้มโชกุน” จากพันธุ์ส้มเขียวหวานบางมดเมื่อนำไปปรับปรุงพันธุ์ผสมกับส้มจีนบิทก้า และทดลองเพาะปลูกที่ อ.เบตง จ.ยะลา จึงเกิดเป็นส้มชนิดใหม่ที่มีรสชาติดี มีลักษณะเด่นหลายประการ อาทิ ผลใหญ่ เปลือกผลสุกมีกลิ่นฉุนตอนปอก เนื้อส้มมีสีส้มเข้ม เปลือกล่อนปอกง่าย รสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม ไม่มีกาก เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้วิทยาการเกษตรเข้ามาพัฒนาคุณภาพของผลไม้ไทย

ในขณะเดียวกัน การบริหารจัดการและการตลาดก็มีความสำคัญ ผลไม้ที่มีคุณภาพ หากขาดการบริหารจัดการและการตลาดที่ดีก็ย่อมไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร “ส้มโชกุน” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน แม้เป็นผลไม้ที่มีคุณภาพ แต่ไม่ได้สร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ รวมทั้งมีเกษตรกรรายอื่นนำส้มโชกุนไปขยายพันธุ์เพาะปลูกในจังหวัดอื่นๆ จนรสชาติเพี้ยนไป เกษตรกรที่พัฒนาผลไม้ชนิดใหม่ขึ้นมาได้จึงควรใส่ใจกับประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

นอกจากนี้ เกษตรกรควรเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำสวนผลไม้ โดยไม่ปลูกผลไม้เชิงเดี่ยว ควรปลูกผลไม้เชิงผสมผสานหลากหลายชนิด แต่ละชนิดไม่ต้องใช้เนื้อที่ปลูกมาก มีการบำรุงรักษาและปรับปรุงคุณภาพ โดยยึดหลักว่า "ทำน้อยได้มาก" และเป็นการกระจายความเสี่ยง รวมทั้งควรหมั่นศึกษาข้อมูลด้านการตลาดอยู่เสมอ เหนือสิ่งอื่นใด เกษตรกรและผู้กำหนดนโยบายภาครัฐควรให้ความสำคัญและนำแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะผลไม้ และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน