บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2558 ตอนที่ 5 กุ้ยโจว: รูปแบบความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยว

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2558 ตอนที่ 5 กุ้ยโจว: รูปแบบความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยว

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 992 view

มณฑลกุ้ยโจวตั้งอยู่ในภาคตะวันตกของจีน โดยทิศเหนือติดกับมณฑลเสฉวนและมหานครฉงชิ่ง ทิศตะวันออกติดกับมณฑลหูหนาน ทิศใต้ติดกับเขตปกครองตนเองฯ กว่างซี และทิศตะวันตกติดกับมณฑลยูนนาน แบ่งการปกครองเป็น 9 เมือง/เขตปกครองตนเอง โดยมีนครกุ้ยหยางเป็นนครเอก

มณฑลกุ้ยโจวมีพื้นที่ 176,167 ตร.กม. พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา มีประชากรประมาณ 35 ล้านคน (ณ สิ้นปี 2557) ประมาณร้อยละ 66 อาศัยอยู่ในชนบท ดำรงชีพด้วยการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้มณฑลกุ้ยโจว  มีค่า GDP เฉลี่ยต่อประชากรต่ำที่สุดใน 31 มณฑล เขตปกครองตนเอง(ระดับมณฑล) และมหานครของจีน (ไม่รวมฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน) จึงถูกเรียกว่า “มณฑลที่ยากจนที่สุดของจีน” โดยปี 2556 มณฑลกุ้ยโจวมีค่า GDP เฉลี่ยต่อประชากร 22,981.60 หยวน

แต่ในระยะหลายปีมานี้ มณฑลกุ้ยโจวให้ความสำคัญในการใช้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพัฒนาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความยากจน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในชนบท สะท้อนจากตัวเลขสัดส่วนภาคเกษตรกรรม : อุตสาหกรรม : บริการ ซึ่งมณฑลกุ้ยโจวมีสัดส่วนภาคบริการสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับมณฑลยูนนานซึ่งเป็นมณฑลภาคตะวันตกและมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง  ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

ผลจากการใช้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ปี 2557 มณฑลกุ้ยโจวสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึง 321 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 289,598 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของ GDP มณฑลกุ้ยโจว (ซึ่งมีมูลค่า 925,101 ล้านหยวน) นอกจากนี้ มณฑลกุ้ยโจวยังมี GDP growth ร้อยละ 10.8 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงเป็นอันดับ 2 ของจีน และสูงเป็น 3 อันดับแรกของจีน ติดต่อกันเป็นปีที่ 4

จุดเด่นการท่องเที่ยวมณฑลกุ้ยโจว

มณฑลกุ้ยโจวมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศหลากหลาย มีพื้นที่ป่า 129.5 ล้านหมู่ (86,300 ตร.กม.) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49 ของพื้นที่ทั้งมณฑล (ณ สิ้นปี 2557) มีสัตว์ป่ากว่า 1,000 ชนิด ในจำนวนนี้ เป็นสัตว์สงวนบัญชีหนึ่ง 14 ชนิด และสัตว์สงวนบัญชีสอง 69 ชนิด มีพืชพันธุ์หลายชนิดที่ได้รับการบรรจุในรายชื่อพืชสงวนของจีน ทำให้มณฑลกุ้ยโจวมีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่น   ด้านธรรมชาติหลายแห่ง โดยมีชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ อาทิ แหล่งท่องเที่ยวระดับ 5A จำนวน 3 แห่ง ได้แก่

        น้ำตกหวงกั่วซู่ (น้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในจีน)

ถ้ำวังมังกร (ถ้ำที่ยาวที่สุดในจีน)

สวนดอกตู้จวนร้อยลี้ และ

มรดกโลกทางธรรมชาติ 1 แห่ง ได้แก่ “ภูมิประเทศแบบคาสต์ในจีนตอนใต้” หมายถึง พื้นที่ที่ประกอบด้วยหินปูน หรือหินชนิดอื่นที่สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำ ทั้งบนผิวโลก และใต้ดิน ถูกน้ำฝนหรือน้ำใต้ดินกัดกร่อนเป็นระยะเวลานาน จนเกิดเป็นภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นหลุมและเขาสลับกัน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอลี่โป เขตปกครองตนเองฯ เฉียนหนาน มณฑลกุ้ยโจว อำเภอสือหลิน (อุทยานป่าหิน) นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน และอำเภออู่หลง มหานครฉงชิ่ง

นอกจากนี้ มณฑลกุ้ยโจวมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ 18 ชนชาติ โดยมีชาวฮั่นเป็นประชากรกลุ่มหลัก และชนกลุ่มน้อยอีก 17 ชนชาติ อาทิ ปู้อี แม้ว ต้ง เป็นรองเพียงมณฑลยูนนานที่มี   26 ชนชาติ ส่งผลให้มณฑลกุ้ยโจวมีสภาพสังคมที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ทำให้มณฑลกุ้ยโจวสามารถพัฒนาและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  อย่างได้เปรียบ

อาทิ หมู่บ้านชาวแม้วตำบลซีเจียง อำเภอเหลยซาน เขตปกครองตนเองฯ เฉียนตงหนาน   ซึ่งเป็นชุมชนชาวแม้วที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรประมาณ 9,000 คน (ณ สิ้นปี 2555) ซึ่งยังคงรักษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม นิยมแต่งกายด้วยสีน้ำเงิน แดง และดำ ประดับกายและศรีษะด้วยเครื่องเงิน สภาพบ้านเรือนตั้งลดหลั่นตามเนินเขา ทำให้เมื่อบ้านทุกหลังเปิดไฟในเวลากลางคืน จะเกิดภาพคล้ายดวงดาวมากมายส่องสว่างตัดกับความมืดของแนวภูเขาที่อยู่เบื้องหลัง

หรือ เมืองโบราณเจิ้นหย่วน อำเภอเหลยซาน เขตปกครองตนเองฯ เฉียนตงหนาน ลักษณะคล้ายกับเมืองโบราณต้าหลี่ มณฑลยูนนาน โดยตัวเมืองโบราณถูกล้อมรอบไว้ด้วยประตูเมืองโบราณ  ทั้ง 4 ด้าน สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตได้เป็นอย่างดี สภาพบ้านเรือนมีทั้งส่วนที่เป็นของเดิมและ  ส่วนที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ยังคงมนต์ขลังและเสน่ห์อย่างที่เมืองโบราณแห่งนี้พึงมี

นครกุ้ยหยางยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมหลายแห่ง อาทิ เขาเฉียนหลิง เมืองโบราณชิงเหยียน สวนสาธารณะฮัวซี แม่น้ำเสี่ยงเชอ หอเจี่ยซิ่ว และสระเทียนเหอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน (ปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกันยายน) ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย 20-28 องศาเซลเซียส ด้วยปริมาณฝนพอเหมาะ ความชื้นพอดีสบายตัว พื้นที่สีเขียวมาก อากาศสะอาดสดชื่น จนได้รับสมญานามว่า เมืองหลวงสำหรับการท่องเที่ยวฤดูร้อนจากการครองอันดับ 1 ในการจัดอันดับเมืองท่องเที่ยวฤดูร้อนของจีน ประจำปี 2548 - 2555 โดย Asia Pacific Environmental Protection Association และ China Institute of City Competitiveness

สถิติด้านท่องเที่ยวที่สำคัญ

หากเปรียบเทียบชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวระหว่างมณฑลในภาคตะวันตกของจีน ถือได้ว่ามณฑลยูนนานมีความโดดเด่นกว่ามณฑลอื่นในภูมิภาค ในฐานะเมืองแห่งฤดูไม้ใบผลิตลอดทั้งปี  (Eternal Spring) มีสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A จำนวน 6 แห่ง และมรดกโลก 5 แห่ง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะท่าอากาศยานฉางสุ่ย นครคุนหมิง ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน

แต่ไม่น่าเชื่อว่า มณฑลกุ้ยโจวซึ่งเล็กกว่ามณฑลยูนนาน ทั้งขนาดพื้นที่และขนาดเศรษฐกิจ  กลับมีสถิติด้านการท่องเที่ยวหลายด้านพุ่งแรงแซงหน้ามณฑลยูนนานอย่างมีนัยสำคัญและน่าที่จะศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของมณฑลกุ้ยโจวเป็นอย่างยิ่ง

หากเปรียบเทียบสถิติด้านการท่องเที่ยวระหว่างมณฑลยูนนานกับมณฑลกุ้ยโจวในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่การท่องเที่ยวของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก  ฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่ง พบว่า สถิติทุกด้านของมณฑลกุ้ยโจวเป็นรองมณฑลยูนนาน แต่มณฑลกุ้ยโจวกลับมีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า ทั้งที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนน้อยกว่า สะท้อนว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปมณฑลกุ้ยโจวมีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปมณฑลยูนนาน

ปี 2553 เป็นปีแรกที่ทั้งสองมณฑลมีรายได้จากการท่องเที่ยวทะลุหลักแสนล้านหยวน และเป็นปีแรกที่มณฑลกุ้ยโจวมีสถิติรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่ามณฑลยูนนาน

ปี 2554 มณฑลกุ้ยโจวมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมากกว่ามณฑลยูนนาน และปี 2555 มณฑลกุ้ยโจวมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมมากกว่ามณฑลยูนนาน

สถิติข้างต้นสะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพของตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศของมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งเกิดจากการกำหนดยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนและลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

ยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวของมณฑลกุ้ยโจว

มณฑลกุ้ยโจวมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมนำการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่า การมีเครือข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์จะนำไปสู่การเป็นมณฑลที่ทันสมัย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งได้รับการส่งเสริมจากการคมนาคมที่สะดวก ปัจจุบัน มณฑลกุ้ยโจวมีเส้นทางรถไฟกว่า 2,490 ก.ม. โดยมีรถไฟความเร็วสูงกุ้ยหยาง-กว่างโจว และมีเป้าหมายที่จะขยายเส้นทางรถไฟเพิ่มเติมให้ครอบคลุมระยะทาง 3,000 ก.ม. รวมทั้งเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงกุ้ยหยาง-เซี่ยงไฮ้ ในปี 2558

มีถนน Highway ยาวกว่า 4,000 ก.ม. และมีเป้าหมายที่จะขยายถนน Highway ให้ยาวกว่า 5,100 ก.ม. ภายในปี 2558 รวมทั้ง เร่งการก่อสร้างถนน Highway วงแหวนรอบมณฑลกุ้ยโจว

มีท่าอากาศยาน 9 แห่งในทุกเมือง/เขตการปกครอง โดยในปี 2557 รองรับผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 14 ล้านคน/ครั้ง ปริมาณผู้โดยสารขยายตัวเป็นอันดับ 1 ของจีน (ท่าอากาศยานนครกุ้ยหยาง รองรับผู้โดยสาร 12.52 ล้านคน/ครั้ง) มีโครงการขยายอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานนครกุ้ยหยาง และโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งที่ 2 ของเมือง/เขตการปกครองต่างๆ รวมทั้ง การเพิ่มเส้นทางบินใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวยังมีแผนที่จะผลักดันนครกุ้ยหยางให้เป็นเมือง wifi แห่งแรกของจีน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมด้านสารสนเทศเป็นส่วนหนึ่งที่เอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

มณฑลกุ้ยโจวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Guizhou Tourism Industry Development Conference ตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องจนถึงครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 เพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมณฑลกุ้ยโจวได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทบทวนและกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นโอกาสสำหรับนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่และผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวแบบใหม่ให้แก่นักลงทุนและบริษัทนำเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รู้จัก เพื่อเผยแพร่และนำนักท่องเที่ยวมาเยือนมณฑลกุ้ยโจวมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นความชาญฉลาดของรัฐบาลจีนและรัฐบาลท้องถิ่น ในการนำชนกลุ่มน้อยมาเป็นจุดขายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยใช้จุดเด่นเรื่องการแต่งกายที่มีสีสันฉูดฉาด สถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งได้ผลทั้งในด้านการสร้างรายได้ให้แก่ชนกลุ่มน้อย และลดจุดอ่อนเรื่องความแตกแยกระหว่างชนชาติซึ่งรัฐบาลเป็นกังวลอย่างได้ผล

หมู่บ้านชนกลุ่มน้อย หรือเมืองโบราณต่างๆ ซึ่งมีโครงสร้างเดิมอยู่แล้ว ก็ใช้วิธีก่อสร้างเพิ่มเติมโดยคงรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดิม เพื่อให้ดูยิ่งใหญ่อลังการมากขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบครัน และนำเกร็ดประวัติศาสตร์มาเป็นจุดขาย ซึ่งนอกจากจะได้ผลในเชิงการท่องเที่ยวและสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังความรักชาติให้นักท่องเที่ยวไปพร้อมกัน