บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2558 ตอนที่ 6 มณฑลยูนนาน ประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2558 ตอนที่ 6 มณฑลยูนนาน ประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 2,077 view

ยูนนานเป็นมณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีความยาวชายแดน 4,060 กม. คิดเป็นระยะทาง 1 ใน 5 ของชายแดนจีน และยังเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือ GMS มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม ที่สำคัญเป็นมณฑลของจีนที่ใกล้ไทยที่สุด ระยะทางจากด่านบ่อหานของยูนนาน (ชายแดนจีน-ลาว) ถึงด่านเชียงของ (ชายแดนลาว-ไทย) จังหวัดเชียงราย ห่างกัน 247 กม. ใช้เวลาเดินทางบนทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) เพียง 4-5 ชม.

ที่ตั้งเหมาะสมเป็น เมืองหัวสะพาน เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

ก.ค. 2552 อดีตประธานาธิบดีจีน หู จิ่นเทา ได้เดินทางเยือนยูนนาน และเห็นว่ายูนนานมีที่ตั้งเหมาะสมตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องการให้ยูนนานทำหน้าที่เสมือนเป็น “เมืองหัวสะพาน” หรือภาษาจีนเรียกว่ายุทธศาสตร์ “เฉียวโถวเป่า (桥头堡Gateway Strategy)” เพื่อเปิดประตูทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเชื่อมมณฑลตอนในของจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

พ.ค. 2554 คณะรัฐมนตรีจีนได้อนุมัติและแถลง “ความคิดเห็นการสนับสนุนให้มณฑลยูนนานเร่งสร้างเมืองหัวสะพานเพื่อเปิดประตูทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน” เท่ากับว่า การพัฒนาให้ยูนนานเป็น “เมืองหัวสะพาน” ได้ถูกยกระดับเป็นยุทธศาสตร์ระดับประเทศ

การก่อร่างสร้างตัวเมืองหัวสะพานจึงได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง ปีต่อมา คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนได้ประกาศ “แผนแม่บทเมืองหัวสะพานปี 2554-2563” โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไว้ 2 ช่วง

ช่วงแรก (2554-2558) ของแผนแม่บทการพัฒนา “เมืองหัวสะพาน” จะเน้นโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการคมนาคม การก่อสร้างถนนและรถไฟ การสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานบริเวณด่านชายแดนและความสะดวกในการผ่านด่าน รวมถึงการยกระดับด่านชายแดนให้เป็นเขตเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ด้านพลังงานกับการสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์เข้าสู่มณฑลยูนนาน และการก่อสร้างเขตโลจิสติกส์นครคุนหมิง

ช่วงที่ 2 (2559-2563) ยังเน้นการสร้างและเชื่อมต่อการขนส่งทั้งทางถนน รถไฟ อากาศและน้ำ รวมถึงเร่งก่อสร้างเขตเศรษฐกิจภาคกลางยูนนาน (คุนหมิง ฉู่สง ฉวี่จิ้ง ยวี่ซี) ให้เป็นกลุ่มเมืองรูปแบบใหม่สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของยูนนาน และศูนย์กลางเมืองหัวสะพาน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและภาคบริการ

การเตรียมความพร้อมของยูนนานกับการเป็นประตูเชื่อมโยงภาคตะวันตกของจีนสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้

การเร่งสร้าง “เมืองหัวสะพาน” ได้ถูกพัฒนาทั้งความเป็นเมือง และตัวสะพานที่เชื่อมต่อเข้าไปที่เมืองและออกนอกเมือง มีการเร่งผลักดันระบบคมนาคมเพื่อสร้างระบบบริหารจัดการขนส่งคนและสินค้ารองรับการพัฒนาความเป็นเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังนำแผนที่เคยมีอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่ว่าจะเป็นแผนคมนาคมมณฑลยูนนาน แผนพัฒนาโลจิสติกส์นครคุนหมิง และเขตเศรษฐกิจภาคกลางยูนนาน มาจัดสรร ปรับแต่งให้สอดคล้องกัน เป็นระบบระเบียบมากขึ้น และประสานรับกับการพัฒนาภาคตะวันตกรอบใหม่ นโยบาย “ก้าวออกไป” และแนวคิด “One Belt and One Road” (the “Silk Road Economic Belt” and the “21th Century Maritime Silk Road”) ตามแผนระดับประเทศของจีน

พัฒนาโครงข่ายคมนาคม ขยายรอบทิศ ทั้งถนน รถไฟ ทางน้ำและอากาศ

หลังประกาศความเป็น “เมืองหัวสะพาน” ยูนนานเร่งการก่อสร้างถนนและรถไฟ ประกอบกันเป็น ถนน 7 สายเชื่อมมณฑลภายในและ 4 สายสู่ต่างประเทศ และ รถไฟ 8 สายเข้ายูนนาน 4 สายออกต่างประเทศ ถนนหนทางขยายเป็นทางด่วน รถไฟหลายสายปรับ/สร้างเป็นความเร็วสูง ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าจะเสร็จภายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2559-2563)

ยูนนานมีทางหลวงเชื่อมโยงมณฑลตอนใน 7 สาย และรถไฟเชื่อมโยงภายในจีน 8 สาย สู่มณฑลรอบด้าน ได้แก่ กุ้ยโจว เสฉวน กว่างซี ทิเบต และฉงชิ่ง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงกว่างโจว (เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพริ์ล) เซี่ยงไฮ้ (เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง) และปักกิ่ง (เขตเศรษฐกิจป๋อไห่) โดยมีเป้าหมายว่า จะใช้เวลาเดินทางภายในมณฑล 2-3 ชม. เฉิงตูและฉงชิ่ง 3-4 ชม. กว่างโจว 6 ชม. เซี่ยงไฮ้ 8 ชม. และปักกิ่ง 10 ชม. 

มีการผลักดันเร่งสร้าง “ระเบียงเศรษฐกิจ” 4 เส้นทาง คือ คุนหมิง-กรุงเทพ คุนหมิง-ฮานอย คุนหมิง-ย่างกุ้ง และคุนหมิง-กัลกัตตา โดยมีเส้นทางเชื่อมไทยกับจีนตอนใต้ด้วยเส้นทาง R3A ที่เดินรถได้ตลอดสายจากคุนหมิง-กรุงเทพ ระยะทางกว่า 1,800 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 วัน และในอนาคต เราคงจะได้เห็นเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ที่เชื่อมจากคุนหมิงสู่กรุงเทพเช่นกัน

ด้านสนามบินเปิดใช้งานแล้ว 12 แห่ง และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 แห่ง คลอบคลุมเกือบจะทุกเมืองของมณฑลยูนนาน โดยสนามบินนานาชาติฉางสุ่ยคุนหมิง ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน (รองจากสนามบินปักกิ่ง สนามบินผู่ตงที่เซี่ยงไฮ้ และสนามบินไป๋หยุนที่กว่างโจว) ปัจจุบัน เปิดให้บริการ 256 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางภายในประเทศ 216 เส้นทาง (รวมฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน) เส้นทางระหว่างประเทศ 40 เส้นทาง โดยมีเส้นทางบินคุนหมิง-กรุงเทพ โดย TG, MU และ Air Asia ใช้เวลาเดินทาง 2 ชม. เส้นทางคุนหมิง-เชียงใหม่ และคุนหมิง-เชียงราย โดย MU ใช้เวลาเดินทาง 1 ชม. 15 นาที

ยูนนานมีท่าเรือสำคัญที่ขนส่งสินค้าและผู้โดยสารผ่านแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขงในจีนมุ่งสู่เมียนมาร์ ลาวและไทย 4 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือซือเหมา ท่าเรือจิ่งหง ท่าเรือก๋านหล่านป้า และท่าเรือกวนเหล่ย ปัจจุบัน ท่าเรือกวนเหล่ยเป็นท่าเรือหลักที่ขนส่งสินค้าไทย-จีน สู่ท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย  
รองรับการขนส่งและโครงข่ายคมนาคมด้วย เขตโลจิสติกส์นครคุนหมิง 5 แห่ง

ตามการพัฒนาความเป็น “เมืองหัวสะพาน” มีการคาดการณ์กันว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าในคุนหมิงจะเพิ่มจาก 170 ล้านตันในปี 2555 เป็น 323 ล้านตันในปี 2563 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ยูนนานจึงได้ก่อสร้างเขตโลจิสติกส์ 5 แห่ง ได้แก่  เขตโลจิสติกส์อานหนิง  เขตโลจิสติกส์จิ้นหนิง เขตโลจิสติกส์หวังเจียอิ๋ง เขตโลจิสติกส์สนามบิน และเขตโลจิสติกส์ซงหมิง ซึ่งมีที่ตั้งโดดเด่นกระจายไปตามแนวเส้นทางที่เชื่อมกับเขตเศรษฐกิจภาคกลางยูนนาน และเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมมณฑลตอนในของจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

และตลอดแนวของเขตโลจิสติกส์จะมีศูนย์จัดส่งสินค้า คลังสินค้า ห้องเย็น และศูนย์ค้าส่งขนาดใหญ่ เรียงรายกระจัดกระจายเพื่อรองรับการขนส่งเกือบ 40 แห่ง เช่น ศูนย์โลจิสติกส์ศูนย์การค้านานาชาติหลัวซือวาน ศูนย์โลจิสติกส์การค้าดอกไม้โต่วหนาน ศูนย์จัดส่งใบยาสูบ และศูนย์จัดส่งวัสดุเหล็กกล้า

รัฐบาลยูนนานมีเป้าหมายให้เขตโลจิสติกส์ทั้ง 5 แห่ง รองรับการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อกับมณฑลยูนนาน ส่งผลให้นครคุนหมิงมีบทบาทสำคัญในการเป็นฐานกระจายสินค้าจากเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ สู่จีนตอนใน โดยเฉพาะจีนภาคตะวันตก 12 มณฑล ซึ่งมีประชากรราว 500 คน คิดเป็นร้อยละ 37 ของประชากรจีน จึงเป็นฐานสำคัญสำหรับการกระจายสินค้าไทยสู่ยูนนานไปยังตลาดมณฑลภาคตะวันตกของจีน

ไม่ขอเป็นแค่ทางผ่าน สร้าง เขตกลุ่มอุตสาหกรรมภาคกลางยูนนาน ช่วยผลักดัน

ต้องยอมรับว่ายูนนานยังเป็นมณฑลทางภาคตะวันตกที่อยู่ระหว่างการพัฒนา นวัตกรรมในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ในขณะที่ตัว “สะพาน” ถูกขยายโครงข่ายออกไปอย่างต่อเนื่อง ยูนนานจะพัฒนาความแข็งแกร่งของ “หัวสะพาน” อย่างไร

ปี 2554 รัฐบาลยูนนานเห็นด้วยกับแผนการสร้าง “เขตเศรษฐกิจภาคกลางยูนนาน” ประกอบไปด้วย 4 เมือง ได้แก่ คุนหมิง ฉวี่จิ้ง ฉู่สง และยวี่ซี โดยมียุทธศาสตร์สร้างจุดแข็งที่ศูนย์กลาง แล้วค่อย ๆ ขยายความเจริญสู่รอบนอก เฉกเช่นการกระเพื่อมของวงน้ำ จากจุดศูนย์กลางที่ภาคกลางยูนนานกระจายความเจริญเป็นวงกว้างสู่เมืองอื่น ๆ ภายในมณฑล เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ อันที่จริงแผนพัฒนาเขตเศษรฐกิจภาคกลางยูนนานก็แอบเงียบเหงาไปพักหนึ่ง แต่ถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังประกาศนโยบาย “เมืองหัวสะพาน” ที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม ซึ่งจะทำให้เขตเศรษฐกิจภาคกลางยูนนานสามารถเดินทางถึงกันภายใน 1 ชม. และยังเชื่อมกับเขตโลจิสติกส์นครคุนหมิงทั้ง 5 แห่ง

ต่อมา มี.ค. 2556 รัฐบาลยูนนานประกาศสร้างเขตกลุ่มอุตสาหกรรมภาคกลางยูนนาน (Central Yunnan Industry Cluster Area : CYICA) ประกอบด้วย 7 อำเภอใน 4 เมืองของเขตเศรษฐกิจภาคกลางยูนนาน ได้แก่ อานหนิง อี้เหมิน ลู่เฟิง ฉู่สง ซงหมิง ซวินเตียน และหม่าหลง โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายความเจริญและขยับ GDP ของเขตเศรษฐกิจภาคกลางยูนนาน ซึ่งในอนาคต CYICA จะกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ 8 ประเภท ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งทอ วัสดุใหม่ เวชภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รถยนต์และอะไหล่ การแปรรูปสินค้าเกษตรที่ราบสูงโลจิสติกส์และบริการทันสมัย

แต่เหนืออื่นใด เขตเศรษฐกิจภาคกลางยูนนาน และ CYICA จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้ยูนนานมีความพร้อมในการเป็น เมืองหัวสะพาน มิใช่เป็นเพียงแค่ สะพานที่ใช้ข้ามผ่านไปเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า ยูนนานมีที่ตั้งเหมาะสมในการทำหน้าที่เป็น “ประตูสู่กันและกัน”  เพื่อเชื่อมโยงคมนาคม การค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะเชื่อมโยงภาคตะวันตกของจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้  รวมถึงศักยภาพการเติบโตของยูนนานที่จะกลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมของภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ถือเป็นยุทธศาสตร์ยกระดับการพัฒนามณฑลภาคตะวันตกของจีน ที่มุ่งขยายช่องทางการลงใต้ เพิ่มช่องทางในการออกสู่ทะเลของจีนทางทะเลอันดามันและอ่าวไทย ฝ่าวงล้อมของสหรัฐฯ เพื่อออกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

ซึ่งไทยคงต้องใช้นโยบายสำคัญของเพื่อนบ้านอย่างยูนนานเป็นตัวเชื่อม เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในการขนส่ง และเป็นโอกาสในการกระจายสินค้าสู่จีนตะวันตก ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่นับวันผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและอำนาจซื้อที่มากขึ้น รวมไปถึงจีนตอนใต้อย่างกว่างซีและกวางตุ้ง และจีนเลียบชายฝั่งทะเลอย่างเซี่ยงไฮ้อีกด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ