วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565
มณฑลยูนนานนับเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจไทยที่ต้องการเริ่มต้นทำความรู้จักกับประเทศจีน ด้วยอากาศที่ไม่หนาวและไม่ร้อนจัด และที่ตั้งใกล้กับไทย ในแต่ละปีจึงมีชาวไทยเดินทางไปเยือนยูนนานจำนวนไม่น้อย ซึ่งมากกว่าสี่แสนคนต่อปีติดต่อกัน 3 ปีซ้อน (ปี 2557 มีคนไทยไปเยือนยูนนาน 456,078 คน) เมืองในมณฑลยูนนานที่คนไทยนิยมไปเที่ยวก็หนีไม่พ้นเมืองเอกอย่างนครคุนหมิง เขตปกครองตนเองชนชาติไทลื้อสิบสองพันนา ซึ่งเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมและภาษาคล้ายภาคเหนือของไทย รวมถึงเมืองโบราณและเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างต้าหลี่-ลี่เจียง-แชงกรีล่า
ด้วยที่ตั้งที่ใกล้กันมากระหว่างด่านชายแดนของยูนนานที่ตำบลบ่อหานถึงด่านชายแดนไทยที่อำเภอเชียงของ มีระยะห่างกันเพียง 247 กม. โดยมีประเทศลาวกั้นกลาง และการเดินทางก็สะดวกสบายด้วยทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) ประกอบกับความสวยงามของประเทศไทยและมิตรภาพแบบไทย ก็ทำให้จำนวนคนจีนที่เดินทางไปเที่ยวเมืองไทยทั้งทางถนนและเครื่องบินเพิ่มขึ้นทุกปี
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่กี่ปีมานี้ ภาคเหนือของไทยจึงเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจีน และในทางกลับกัน นครคุนหมิงก็มีบรรยากาศแบบไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
เพลิดเพลินเดินเล่น ชมบรรยากาศ “เถรวาทไทย” ในวัดพุทธมหายาน ใจกลางคุนหมิง
เมื่อเดินทางถึงคุนหมิง เอาฤกษ์เอาชัยด้วยการไหว้พระกันก่อน “วัดหยวนทง” เป็นวัดที่แทบจะทุกคณะทัวร์ของไทยต้องพาลูกทัวร์ไปเยือน และเป็นวัดที่คนไทยในคุนหมิงรู้จักเป็นอย่างดี เป็นสถานที่นัดพบของคนไทยที่จะไปขอพร “พระพุทธชินราช” เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยในวันขึ้นปีใหม่ และยังเป็นที่พึ่งทางใจของนักเรียนไทยก่อนสอบปลายภาค
“หยวนทงซื่อ” หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามของ “วัดหยวนทง” เป็นวัดโบราณที่มีชื่อเสียงและใหญ่ที่สุดในนครคุนหมิง อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของมณฑลยูนนาน สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161 – พ.ศ.1450) เป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,200 ปี โดยในปี พ.ศ. 2526 รัฐบาลจีนได้ขึ้นทะเบียนวัดหยวนทงเข้าไว้ในรายชื่อวัดในศาสนาพุทธที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศจีน
วิหารส่วนหลังของวัดหยวนทง เป็นวิหารที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนมากที่เดินทางมาถึงคุนหมิงจะต้องแวะมาสักการะบูชาอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองเหลือง ความสูง 3.13 เมตร น้ำหนัก 4.7 ตัน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานให้รัฐบาลจีน และต่อมาได้อัญเชิญมาประดิษฐานภายในวิหารที่จัดสร้างในรูปแบบของอุโบสถไทย พระพุทธชินราชจำลององค์นี้ ถือเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงมิตรภาพระหว่างประชาชนชาวจีนและชาวไทย
จากวัดหยวนทง เดินทางด้วยรถยนต์ไปทางทิศตะวันออกของคุนหมิงประมาณ 30 นาที จะพบกับ “วิทยาลัยพระปริยัติธรรม” ของศาสนาพุทธขนาดใหญ่ในเมืองอานหนิง ที่บรรยากาศภายในร่มรื่น ชวนให้เพลิดเพลินกับการเดินเล่น วิทยาลัยพระปริยัติธรรม หรือ
“ฝอเสวย่วน” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เป็นสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาแห่งเดียวในประเทศจีนที่มีหลักสูตรการศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับพระภิกษุสงฆ์ 3 นิกาย ได้แก่ มหายาน
เถรวาท และวชิรยาน โดยจัดการเรียนการสอนใน 3 ภาษา คือ ภาษาบาลี-สันกฤต ภาษาจีน และภาษาทิเบต จนถึงปัจจุบัน มีพระภิกษุสงฆ์ที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยแห่งนี้ประมาณ 200 รูป และส่วนใหญ่เดินทางไปศึกษาต่อในประเทศไทย
“วิทยาลัยพระปริยัติธรรม” ฝ่ายเถรวาทมีพิธีพุทธตามเทศกาลต่าง ๆ คล้ายประเพณีของไทย อาทิ สงกรานต์ และขึ้นปีใหม่ วิหารฝ่ายเถรวาทมีพระพุทธรูปขนาด 4.5 x 3 เมตร 2 องค์ โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานในพิธีหล่อ และเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลังใหม่ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่ยั่งยืนของชุมชนพุทธในมณฑลยูนนาน
เอร็ดอร่อยกับการชิมอาหารไทยในคุนหมิง
เดินเล่นกันเหนื่อยแล้ว ไปทานอาหารไทยในคุนหมิง ซึ่งมีกันอยู่หลายร้านให้เลือก ทั้งที่เจ้าของเป็นคนไทยและคนจีน แต่ร้านอาหารไทยที่ขึ้นชื่อในคุนหมิงและเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นร้านมูนไลท์ เยาวราช
ชิมไทย กินรี และไทยพาราไดซ์ มักมีพ่อครัวคนไทยเป็นเชฟใหญ่อยู่ในร้านอาหารเหล่านั้นอย่างน้อย 1 – 2 คน
การตกแต่งโดยทั่วไปของร้านอาหารไทย หากอยากให้ถูกใจชาวคุนหมิง แน่นอนว่าต้องแต่งร้านสไตล์ไทยแท้ อุปกรณ์ตกแต่งที่น่าสนใจ เช่น หน้าจั่วทรงไทย ตุ๊กตาไม้ที่มีการไหว้แบบไทย ตุงแบบล้านนา หมอนอิง และตุ๊กตาเซรามิครูปช้าง รวมไปถึงบริกรที่สวมชุดไทย การตกแต่งจานด้วยผักที่แกะสลักแบบไทยและกล้วยไม้ไทย การเสิร์ฟด้วยอุปกรณ์การกิน จาน ชาม ช้อนและส้อมสไตล์ไทย แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ต้องมีตะเกียบมาด้วย
อาหารไทยที่ชาวคุนหมิงโปรดปรานและทุกร้านต้องเสิร์ฟเมนูเหล่านี้ ได้แก่ ส้มตำ แกงเขียวหวาน ผัดไท
คอหมูย่าง ปลานึ่งมะนาว และต้มยำกุ้ง รวมไปถึงเมนูสิ้นคิดที่คนไทยชอบสั่งอย่างผัดกะเพรา ชาวคุนหมิงก็ชื่นชอบเช่นกัน ขนมจานโปรดที่ได้รับความนิยมและต้องมีอยู่ในเมนูของทุกร้านก็คือ ข้าวเหนียวมะม่วง และเนื่องจากเป็นมณฑลที่ไม่ติดทะเล ชาวคุนหมิงจึงชื่นชอบอาหารและขนมไทยที่มีส่วนผสมของมะพร้าวหรือกะทิเป็นพิเศษ ร้านอาหารไทยหลายแห่งจึงชูจุดเด่นขนมไทยที่มีส่วนผสมของกะทิเข้าไปด้วย เช่น ขนมครก กล้วยบวชชี และทับทิมกรอบ
ช่วงฤดูหนาว ชาวจีนชอบทาน “หั่วกัว (สุกี้)” อย่างมากเพื่อคลายความหนาว บางทียกโขยงกันมาทั้งครอบครัว หรือพากันมาสังสรรค์แบบเพื่อนร่วมงาน หั่วกัวต้มยำกุ้ง จึงเป็นอีกหนึ่งเมนูที่ต้องเสริมทัพเข้ามาในช่วงหน้าหนาว เพื่อสร้างความต่างจากร้านหั่วกัวทั่ว ๆ ไปในคุนหมิง
ช้อปจับจ่ายหาวัตถุดิบไทยในคุนหมิง
พอท้องอิ่ม สมองก็เกิดคำถามว่า ร้านอาหารไทยและคนไทยในคุนหมิงหาวัตถุดิบเพื่อมาทำอาหารไทยได้จากที่ไหน คำตอบที่ได้จากคนไทยคือให้ไปที่ “หยุนฝ่าง” ซึ่งเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบและอาหารแปรรูปไทย ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครคุนหมิง
ที่หยุนฝ่าง ชั้น 1 มีร้านขายวัตถุดิบ อาหารแปรรูปไทย และหัตถกรรมไทยไม่เกิน 10 ร้าน แต่อยู่เกาะกลุ่มติด ๆ กัน
แม้ร้านค้าไทยจะมีไม่มากนัก แต่วัตถุดิบก็เรียกได้ว่าครบครันสำหรับคนไกลบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกะปิ น้ำปลา มะขามเปี๊ยก
กะทิกล่อง เครื่องแกงสำเร็จรูป ขิง/ข่า/ตะไคร้อบแห้ง หรือแม้แต่บะหมี่สำเร็จรูปหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายรสชาติแบบไทย ที่ทำให้นักเรียนไทยในต่างแดนพอหายคิดถึงบ้าน
ร้านขายวัตถุดิบและอาหารแปรรูปไทยที่หยุนฝ่าง ไม่เพียงเป็นที่พึ่งของร้านอาหารไทยและคนไทยในคุนหมิง แต่ยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนที่มาหาซื้อเครื่องปรุงเพื่อเรียนรู้การทำอาหารไทย และช่วงเทศกาลตรุษจีนชาวจีนหลายคนเลือกที่จะซื้อของฝากเพื่อนหรือญาติด้วยอาหารแปรรูป ขนมและน้ำผลไม้กระป๋องแบบไทย เพื่อสร้างความต่างและความประทับใจแก่ผู้รับ รวมไปถึงยังสามารถหาซื้อของที่ระลึกประเภทหัตถกรรมไทย อาทิ หมอนอิงและไม้แกะสลักต่าง ๆ ในหยุนฝ่างได้อีกด้วย
ความคุ้นเคย “สไตล์ไทย” ที่คุนหมิง นำไปสู่การค้าการท่องเที่ยวที่เพิ่มยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การจัดงานเทศกาลไทย ณ นครคุนหมิงเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้จัดขึ้น 10 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 8-17 พ.ค. 2558 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการสร้างความคุ้นเคยและใกล้ชิด ชาวคุนหมิงสามารถเลือกซื้อสินค้าไทย ชิมอาหารไทย และชมการแสดงนาฏศิลป์ไทย เปรียบเสมือนเวทีจำลองที่ทำให้ชาวจีนได้เห็นและรู้จักวิถีไทยมากขึ้น จนเกิดความรู้สึกอยากไปเมืองไทยเพื่อสัมผัส “สไตล์ไทย” ที่แท้จริงและได้เห็นบรรยากาศของจริง แถมค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้ต่างจากการไปเที่ยวมณฑลข้างเคียงอย่างซีอานหรือเฉิงตู แต่โก้เก๋กว่าที่ได้บอกกับเพื่อนและญาติว่าได้ไป “เมืองนอก” แถมได้เปิดโลกทัศน์การท่องเที่ยวที่แตกต่างจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นทะเลสวย หาดทรายสะอาด ตลาดน้ำผู้คนควักไขว่และมีของกินอร่อยมากมาย วัดวาอารามแหล่งที่พึ่งทางใจที่สงบและไม่มีค่าผ่านประตู
การสร้างความคุ้นเคยและกระแสนิยมไทยในคุนหมิงให้มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และยอมรับวัฒนธรรมไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน การได้เห็นคนจีนนั่งดูละครไทย ชอบกินอาหารไทย และตื่นเต้นดีใจที่ได้ไปเมืองไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาพที่น่าประทับใจ และท้ายสุดนำมาซึ่งการค้าการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศที่เพิ่มมากขึ้น เพราะความคุ้นเคยที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสนิทสนมอาจกลายเป็น “เพื่อนสนิท” ได้เช่นกัน