บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2559 ตอนที่ 1 “เมาตัวลี” ของดีของยูนนานที่ไทยก็ทำได้

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2559 ตอนที่ 1 “เมาตัวลี” ของดีของยูนนานที่ไทยก็ทำได้

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 พ.ย. 2565

| 757 view

ตุ่ง ตุ่ง ตุ่ง ตุ่ง ตุ่ง “เมาตัวลี ยะ เมาตัวลี ยะ เมาตัวลี”

นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางมาเยือนมณฑลยูนนานและได้มีโอกาสไปเลือกซื้อของฝากในซุปเปอร์มาร์เก็ตคงต้องเคยได้ยินเสียงกลอง “ตุ่ง ตุ่ง ตุ่ง ตุ่ง ตุ่ง” และเพลงที่ร้องว่า “เมาตัวลี ยะ เมาตัวลี ยะ เมาตัวลี” ย่อมต้องเกิดความสงสัยและเดินไปหาที่มาของเสียงเพื่อหาคำตอบว่าเป็นเสียงอะไร

“เมาตัวลี” เป็นชื่อยี่ห้อของเยลลี่รสมะขาม สินค้าขายดีที่นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวต่างชาติที่มาเยือนมณฑลยูนนานนิยมซื้อเป็นของฝาก หาซื้อได้สะดวกทั้งในซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ ขนาดของเยลลี่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับเหรียญ 1 บาท หนาประมาณ 5 มิลลิเมตร ขนาดพอดีคำ เหมาะกำลังทานเป็นของว่าง เนื่องจากรสชาติไม่หวานเกินไป อมเปรี้ยวเล็กน้อยกลมกล่อม

ตอนกลางและตอนใต้ของมณฑลยูนนานมีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับประเทศไทย จึงสามารถเพาะปลูกพืชเมืองร้อนได้ อาทิ มะม่วง กล้วย ยางพารา มะละกอ รวมทั้งมะขาม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเยลลี่รสมะขาม “เมาตัวลี”

มะขามของมณฑลยูนนานแม้จะไม่อร่อยเหมือนมะขามไทย แต่ชาวยูนนานก็ใช้ภูมิปัญญาในการแปรรูปมะขามเป็นอาหารและของว่าง เช่น น้ำมะขาม มะขามกวน รวมถึงเยลลี่รสมะขามซึ่งมีจำหน่ายเป็นของฝากอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และใช้หลักการตลาดเข้ามาส่งเสริมการขาย

จนกระทั่งบริษัทเมาตัวลีกรุ๊ป ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองยวี่ซี ห่างจากนครคุนหมิงไปทางทิศใต้ประมาณ 90 กม. ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “เมาตัวลี” ออกสู่ท้องตลาดในปี 2546 โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค จนกลายเป็นของฝากที่มีชื่อเสียงของมณฑลยูนนานภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ถึงขนาดได้เข้าไปเป็นของว่างในห้องรับรอง VIP ของสนามบินคุนหมิง และสถานที่สำคัญหลายแห่งในนครคุนหมิง

บริษัทเมาตัวลีกรุ๊ปใช้ระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ผลิตสินค้าจำนวนมากเพื่อลดต้นทุน    ใช้การผลิตระบบปิดเพื่อควบคุมคุณภาพ รักษาสูตรการผลิตเป็นความลับ และลงทุนเพาะปลูกมะขามเอง เพื่อประกันความเสี่ยงให้มีวัตถุดิบป้อนโรงงานอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ บริษัทเมาตัวลีกรุ๊ปได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังประเทศลาวด้วย จึงเป็นการสร้างงานให้กับเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้าน

การเลือกเปิดตัวด้วยเยลลี่รสมะขาม เนื่องจากมะขามเป็นผลไม้เมืองร้อน มีความเป็น “ยูนนาน” ชัดเจน เมื่อเปิดตัวเยลลี่รสชาติใหม่ในปี 2551 ก็เลือก “เสาวรส” ผลไม้เมืองร้อนตามคอนเซ็ปต์เดิม

การออกแบบบรรจุภัณฑ์ก็เน้นสีสันจัดจ้าน บรรจุภัณฑ์สีแดงมีที่มาจากสีแดงของเนื้อมะขาม บรรจุภัณฑ์สีเหลืองมีที่มาจากสีเหลืองของเนื้อเสาวรส โดยพิมพ์รูปมะขามและเสาวรสบนบรรจุภัณฑ์อย่างเด่นชัด ทำให้เห็นปุ๊บก็น้ำลายสออยากลองชิม

การตั้งชื่อก็มีความสำคัญ “เมาตัวลี” เป็นภาษาไทลื้อ มีความหมายว่า “เด็กหนุ่มที่สดใสเหมือนดวงอาทิตย์” ชื่อที่แปลก สะดุดหู ดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจอย่างรู้ความหมาย และช่วยให้ผู้บริโภคจดจำชื่อสินค้าได้ง่าย อีกทั้งยังช่วยตอกย้ำความเป็นของฝากของมณฑลยูนนานให้เด่นชัดยิ่งขึ้น เนื่องจากมณฑลยูนนานมีชาวไทลื้ออาศัยอยู่กว่า 6 แสนคน

“เมาตัวลี” เน้นการประชาสัมพันธ์แบบเข้าถึงตัวผู้บริโภคในซุปเปอร์มาเก็ต โดยพนักงานขายของ “เมาตัวลี” จะตีกลอง “ตุ่ง ตุ่ง ตุ่ง ตุ่ง ตุ่ง” และเปิดเพลง “เมาตัวลี ยะ เมาตัวลี ยะ เมาตัวลี” ควบคู่กันไป เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าที่กำลังเลือกซื้อสินค้า ซึ่งบริษัท “เมาตัวลี” ให้ความสำคัญกับการขายรูปแบบนี้โดยเปิดแผนกอบรมการตีกลองเพื่อฝึกเทคนิคการขายให้พนักงานโดยเฉพาะ

เมื่อเสียงกลองและเสียงเพลงดึงดูดลูกค้าได้แล้ว พนักงานขายก็จะแจก “เมาตัวลี” ให้ลูกค้าชิม เมื่อลูกค้าได้ชิมแล้วก็ยอมควักกระเป๋าซื้อเป็นส่วนใหญ่

กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมออกร้านในงานกาชาดทุกปี โดยสินค้าที่ส่งมาโดยตรงจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลกได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ก็ได้ส่งเยลลี่รสมะขาม “เมาตัวลี” ไปร่วมออกร้านและขายดีจนสินค้าหมดอย่างรวดเร็ว

ประเทศไทยก็มีการนำมะขามมาแปรรูปเป็นของว่าง อาทิ มะขามจี๊ดจ๊าด มะขามแก้ว มะขามกวน มะขามหวานคว้านเมล็ด และมะขามคลุกบ๊วย แต่ก็มีอายุการเก็บรักษาสั้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์มะขามแปรรูปที่มีอายุการเก็บรักษายาวอย่างลูกอมรสมะขาม และมะขาม 5 รส ก็ติดภาพความเป็นของหวานที่ไม่มีประโยชน์และไม่ควรรับประทานเยอะ

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มะขามแปรรูปของไทยที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นการผลิตในระดับครัวเรือนหรือชุมชน จึงยังมีข้อจำกัดด้านการควบคุมคุณภาพและรสชาติให้ได้มาตรฐาน ขาดการใช้นวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ขาดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดูดีและการทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้า

อาจเป็นเพราะว่า สินค้าเหล่านี้ติดภาพสินค้าระดับชาวบ้าน ถูกมองว่ามูลค่าทางการตลาดหรือโอกาสทางการตลาดไม่สูง จึงไม่มีผู้สนใจผลิตในเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่บริษัทเมาตัวลีกลับสามารถสร้างเยลลี่รสมะขาม “เมาตัวลี” ให้เป็นสินค้าขายดีของมณฑลยูนนานที่คนท้องถิ่นนิยมรับประทาน และเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวต่างชาติต้องซื้อ

ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้เมืองร้อนที่มีชื่อเสียงของโลก จึงมีผลไม้รสชาติอร่อยจำนวนมากซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมในการนำมาแปรรูปเป็นสินค้าประเภทต่างๆ โดยนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่น และการตลาดอย่างมีชั้นเชิงมาใช้ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

              โดยต้องมองว่า กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่แค่เพียงผู้บริโภคชาวไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้ต้องซื้อของฝากเปรียบเสมือนการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยทางอ้อม

              ปิดท้าย “เมาตัวลี” ด้วยเรื่องบรรจุภัณฑ์ ด้วยความไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่ แม้สินค้าจะขายดีติดลมบนไปแล้ว แต่เมื่อต้นปี 2558 “เมาตัวลี” ได้เปิดตัวบรรจุภัณฑ์ใหม่สำหรับเยลลี่รสมะขามและเสาวรส ซึ่งมีเสียงตอบรับทั้งด้านบวกและลบ บ้างก็ว่า ดูดี มีระดับ สะอาดตา บ้างก็ว่า เสียเอกลักษณ์ ไม่สะดุดตา ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องวัดผลตอบรับกันที่ยอดขายว่าจะเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ แต่ที่ขึ้นแน่ๆ ก็คือ ราคาขายที่ปรับขึ้นไปแล้วพร้อมกับบรรจุภัณฑ์โฉมใหม่