วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ย. 2565
ธนบัตรชนิดมูลค่า 100 หยวนรุ่นใหม่ หรือเหรินหมินปี้รุ่นปี ค.ศ. 2015 ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015 นับเป็นการปรับโฉมครั้งแรกในรอบ 10 ปีของธนบัตรจีน
ทั้งนี้ ธนบัตรของจีนรุ่นที่ตีพิมพ์ภาพอดีตประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตงบนธนบัตรชนิดสีแดง มูลค่า 100 หยวน รวมทั้งธนบัตรชนิดมูลค่า 50 หยวน 20 หยวน 10 หยวน 5 หยวน และ 1 หยวน นั้น ถือเป็นธนบัตรรุ่นที่ 5 ของจีนนับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองประเทศ ซึ่งได้ประกาศใช้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1999 โดยต่อมามีการปรับปรุงรูปแบบธนบัตรอีก 2 ครั้ง ได้แก่ ปี ค.ศ. 2005 และปี ค.ศ. 2015
ธนบัตรรุ่นที่ 1 ของจีนภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เกือบ 1 ปี
เหตุผลที่รัฐบาลจีนประกาศใช้ธนบัตรชนิดมูลค่า 100 หยวนรุ่นใหม่ ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงได้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเงินสกุลหยวน ในการเตรียมพร้อมเป็นเงินสกุลสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก สอดคล้องเหมาะเจาะกับห้วงเวลาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015 ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศรับเงินสกุลหยวนเข้าสู่ทำเนียบ "สิทธิพิเศษถอนเงิน" (SDR) ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศ ซึ่ง IMF สร้างขึ้นเพื่อเสริมเงินสำรองและสภาพคล่องของประเทศสมาชิก ซึ่งเงินสกุลหยวนจะเป็นเงินสกุลที่ 5 ที่ถูกใช้คำนวณร่วมกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ยูโร ปอนด์สเตอร์ลิง และเยน โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2016 เป็นต้นไป สะท้อนว่า จีนจะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ
นอกจากประเด็นเรื่องการปรับโฉมของเงินสกุลหยวนและบทบาทของเงินสกุลหยวนในระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งมีรายงานข่าวโดยทั่วไปอยู่แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในวงการเงินการธนาคารจีนอีกหนึ่งด้าน ได้แก่ การที่ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) ธนาคารพาณิชย์ของจีน ได้ใช้บัตรติดชิพ ซึ่งไม่มีแถบแม่เหล็ก สำหรับบัตรเดบิตและบัตรเครดิตที่ออกใหม่ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2014
ซึ่งต่อมา ธนาคารประชาชนจีนได้ประกาศให้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ของจีนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2015 เป็นต้นไปต้องเป็นบัตรที่มีชิพ ในปัจจุบันมี ICBC แห่งเดียวที่ออกบัตรติดชิพโดยไม่มีแถบแม่เหล็ก ขณะที่ธนาคารพาณิชย์รายอื่นของจีนยังออกบัตรติดชิพพร้อมแถบแม่เหล็ก
ธนาคารพาณิชย์ของไทยก็มีการออกบัตรเครดิตติดชิพพร้อมแถบแม่เหล็กทุกใบอยู่แล้ว แต่จะเริ่มนำมาใช้ในประเทศไทยทั้งระบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2016
แนวโน้มในวงการเงินการธนาคารทั่วโลกคือ เทคโนโลยีชิพบันทึกข้อมูลจะเข้ามาใช้คู่ขนานกับแถบแม่เหล็ก และค่อยๆ เข้ามาแทนที่แถบแม่เหล็กในท้ายที่สุด ซึ่งข้อมูลในชิพจะมีความปลอดภัยมากกว่าแถบแม่เหล็กที่ถูกปลอมแปลงข้อมูลได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากยุคแถบแม่เหล็ก ไปสู่ชิพพร้อมแถบแม่เหล็ก และเข้าสู่ยุคบัตรติดชิพ ซึ่งปัจจุบันมีบัตรทุกประเภทใช้งานอย่างแพร่หลาย ในขณะที่ตู้เอทีเอ็มและเครื่องรูดบัตรบางส่วนยังไม่ได้รับการยกระดับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เมื่อนำมาใช้งานคู่กัน จึงพบปัญหาไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินที่ตู้เอทีเอ็มหรือเครื่องรูดบัตรนั้นๆ ได้
ผลกระทบต่อประเทศไทยที่เกิดขึ้นแล้วคือ คนไทยที่ทำงานในจีน ซึ่งนิยมนำเงินกลับไทยโดยนำบัตรเดบิตจีนมากดเงินสดกับตู้เอทีเอ็มในไทย หรือนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย หากใช้บัตรรุ่นใหม่ของ ICBC ที่ติดชิพเพียงอย่างเดียว จะประสบปัญหาไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินกับ ตู้เอทีเอ็มเพราะเครื่องไม่สามารถอ่านข้อมูลจากชิพบนบัตรได้
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวอันดับต้นของชาวจีน ซึ่งสร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศในแต่ละปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยคงต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบบัตรเดบิตของจีนและปรับตัว เพื่อป้องกันการเสียโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศ
สำหรับนักธุรกิจไทยหรือนักท่องเที่ยวไทยที่กำลังจะเดินทางมาประเทศจีน หากจะสละเวลาเล็กน้อยเพื่อไปขอบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตที่มีสัญลักษณ์ “Union Pay” จากธนาคารพาณิชย์ในไทย ก็จะช่วยให้การเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยของท่านในระหว่างอยู่ในประเทศจีนมีความสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากร้านค้าส่วนใหญ่ในจีนไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านบัตรระบบ Visa หรือ Master Card ได้