บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2559 ตอนที่ 3 ออกงานแฟร์จีนอย่างไร ให้ช่วยเศรษฐกิจไทย ได้ลุ้นจับคู่ธุรกิจ

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2559 ตอนที่ 3 ออกงานแฟร์จีนอย่างไร ให้ช่วยเศรษฐกิจไทย ได้ลุ้นจับคู่ธุรกิจ

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 1,010 view

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกสูงถึงร้อยละ 70 แต่ในสภาวะการส่งออกไทยถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้ง เศรษฐกิจจีนที่เป็นเครื่องจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาขยายตัวในอัตราที่ลดลง

หน่วยงานภาครัฐของไทยไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสภาวการณ์ดังกล่าว โดยเร่งดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นการส่งออกของไทย รวมทั้งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออกที่หายไป ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศในแต่ละปี ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าบริการอื่นๆ เมื่อเดินทางกลับก็นิยมซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับไป ถือเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ(การส่งออกทางอ้อม)ของไทยอีกทางหนึ่ง

เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยแล้วยังช็อปช่วยชาติ ดังนั้น SMEs ไทยจึงมัวงอมืองอเท้าไม่ได้ ทั้งนี้ สามารถช่วยเศรษฐกิจไทย(สร้างยอดขายให้กับสินค้าของตนเอง)ได้อีกทางหนึ่งโดยการไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งงานแสดงสินค้ามาตรฐานสากลเน้นการจับคู่ธุรกิจควบคู่กับการขายปลีก โดยช่วงแรกของงานฯ เป็นกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ หลังจากนั้นจึงเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมงานฯ

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (Business Information Center) ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการร่วมงานแสดงสินค้า และรายชื่องานแสดงสินค้าที่สำคัญในจีนพร้อมรายละเอียด เพื่อให้ SMEs ไทยสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลได้ที่ www.thaibizchina.com

SMEs ไทยสามารถใช้โอกาสนี้นำเสนอสินค้าแก่นักธุรกิจจีนที่เข้าชมงานฯ หากอีกฝ่ายมีความสนใจจนถึงขั้นเจรจาธุรกิจ ก็อาจประสบความสำเร็จได้รับยอดคำสั่งซื้อมูลค่าสูง ส่วนสินค้าที่นำมาจัดแสดงก็จำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปที่เข้าชมงานฯ โดยไม่ต้องขนกลับ ดังนั้น SMEs ไทยที่มาออกร้านแสดงสินค้าจึงควรเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจรธุรกิจเป็นสำคัญ มากกว่าตั้งความหวังกับยอดขายปลีก

สินค้าไทย อาทิ ผลไม้ อาหารแปรรูป เครื่องปรุงอาหารไทย ผลิตภัณฑ์สปา และงานหัตถกรรม ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและเครื่องปรุงอาหารไทยวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำในจีน ผลไม้ไทย อาทิ ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ มะม่วง สามารถพบเห็นได้ตามร้านขายผลไม้ในจีนจนชินตา สะท้อนว่า ผู้บริโภคชาวจีนส่วนหนึ่งมีความคุ้นเคยกับสินค้าไทยระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้น สินค้าไทยที่นักธุรกิจจีนกำลังมองหาคือ สินค้าชนิดใหม่ มีความแตกต่างจากสินค้าไทยชนิดเดิมที่มีอยู่ในตลาดจีน

ทั้งนี้ งานเทศกาลไทย ณ นครคุนหมิง ปี 2556 ถือเป็นครั้งแรกในประเทศจีนที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ร่วมมือกับกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำเจ้าของผลิตภัณฑ์ OTOP มาออกร้าน ทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ OTOP มีความเชื่อมั่นในตลาดจีน รวมทั้ง ได้เรียนรู้ทำความเข้าใจตลาดจีน และศึกษารสนิยมของผู้บริโภคจีนด้วยตนเอง เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในแง่คุณภาพ และจุดเด่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสสินค้าไทยและความเป็นไทยขายได้ จึงมีนักธุรกิจจีนหัวใสหลายรายในนครคุนหมิงฉวยโอกาสจัดงานแสดงสินค้า โดยตั้งชื่องานให้มีความเกี่ยวข้องกับไทย และสามารถเก็บค่าบูธจากผู้ประกอบการไทย “กลุ่มผู้ค้า (Trader)” ได้เป็นกอบเป็นกำ แม้หลายงานจะเป็นเพียงงานแสดงสินค้าริมถนน แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการไทยยินดีที่จะเสี่ยงดวง นำสินค้าที่คาดว่าน่าจะขายได้มาออกร้าน หากผลตอบรับไม่ดี ก็จะลดราคาจำหน่ายเพื่อระบายสินค้าให้หมด และหาสินค้าชนิดใหม่มาจำหน่ายต่อไปเป็นวัฏจักร ซึ่งพฤติกรรมลักษณะนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และมาตรฐานราคาของสินค้าไทย ใน

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึง “คุณภาพ” และ “ความน่าเชื่อถือ” ของผู้จัดงาน  

ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมงาน เพราะที่ผ่านมา งานแสดงสินค้าบางงานก็จัดถี่ยิบแทบจะสัปดาห์ต่อสัปดาห์ โดยเปลี่ยนทำเลไปตามสี่แยกใหญ่หรือลานกว้างในนครคุนหมิง ผู้ประกอบการไทยก็บ่นว่า ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็ยังยอมเสี่ยงต่อไป จนกลายเป็นลูกค้าประจำย้ายตามผู้จัดงานไปตลอด บางกรณี เมื่อถึงวันเริ่มงาน ผู้จัดกลับแจ้งว่า ไม่สามารถจัดงานได้ เนื่องจากไม่ได้รับการอนุมัติจากทางการท้องถิ่น

และตัดสินใจย้ายสถานที่จัดงานแบบนาทีสุดท้าย ซึ่งสถานที่ใหม่มีคูหาไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยหลายรายที่เดินทางมาแล้วแต่ไม่มีคูหาจำหน่ายสินค้า ก็ต้องเดินทางกลับ เสียทั้งเงินทั้งเวลา

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ผู้ประกอบการไทยตระหนักเกี่ยวกับการพิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่มีคุณภาพในจีน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเตือนให้ผู้ประกอบการไทยพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เพราะหากเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ นอกจากจะเสียทั้งเงินทั้งเวลาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และมาตรฐานราคาของสินค้าไทยด้วย