บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2559 ตอนที่ 2 การเปลี่ยนแปลงสำคัญในวงการเงินการธนาคารจีน

บทความบีไอซีคุนหมิง ปี 2559 ตอนที่ 2 การเปลี่ยนแปลงสำคัญในวงการเงินการธนาคารจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ย. 2565

| 1,038 view

ธนบัตรชนิดมูลค่า 100 หยวนรุ่นใหม่ หรือเหรินหมินปี้รุ่นปี ค.ศ. 2015 ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015 นับเป็นการปรับโฉมครั้งแรกในรอบ 10 ปีของธนบัตรจีน

ทั้งนี้ ธนบัตรของจีนรุ่นที่ตีพิมพ์ภาพอดีตประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตงบนธนบัตรชนิดสีแดง มูลค่า 100 หยวน รวมทั้งธนบัตรชนิดมูลค่า 50 หยวน 20 หยวน 10 หยวน 5 หยวน และ 1 หยวน นั้น  ถือเป็นธนบัตรรุ่นที่ 5 ของจีนนับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองประเทศ ซึ่งได้ประกาศใช้ตั้งแต่       ปี ค.ศ. 1999 โดยต่อมามีการปรับปรุงรูปแบบธนบัตรอีก 2 ครั้ง ได้แก่ ปี ค.ศ. 2005 และปี ค.ศ. 2015

ธนบัตรรุ่นที่ 1 ของจีนภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีการประกาศใช้เมื่อวันที่  1 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เกือบ 1 ปี

เหตุผลที่รัฐบาลจีนประกาศใช้ธนบัตรชนิดมูลค่า 100 หยวนรุ่นใหม่ ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงได้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเงินสกุลหยวน ในการเตรียมพร้อมเป็นเงินสกุลสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก สอดคล้องเหมาะเจาะกับห้วงเวลาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015    ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศรับเงินสกุลหยวนเข้าสู่ทำเนียบ "สิทธิพิเศษถอนเงิน" (SDR) ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศ ซึ่ง IMF สร้างขึ้นเพื่อเสริมเงินสำรองและสภาพคล่องของประเทศสมาชิก ซึ่งเงินสกุลหยวนจะเป็นเงินสกุลที่ 5 ที่ถูกใช้คำนวณร่วมกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ยูโร  ปอนด์สเตอร์ลิง และเยน โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2016 เป็นต้นไป สะท้อนว่า จีนจะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

นอกจากประเด็นเรื่องการปรับโฉมของเงินสกุลหยวนและบทบาทของเงินสกุลหยวนในระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งมีรายงานข่าวโดยทั่วไปอยู่แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในวงการเงินการธนาคารจีนอีกหนึ่งด้าน ได้แก่ การที่ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) ธนาคารพาณิชย์ของจีน ได้ใช้บัตรติดชิพ  ซึ่งไม่มีแถบแม่เหล็ก สำหรับบัตรเดบิตและบัตรเครดิตที่ออกใหม่ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2014

ซึ่งต่อมา ธนาคารประชาชนจีนได้ประกาศให้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ของจีนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2015 เป็นต้นไปต้องเป็นบัตรที่มีชิพ ในปัจจุบันมี ICBC แห่งเดียวที่ออกบัตรติดชิพโดยไม่มีแถบแม่เหล็ก ขณะที่ธนาคารพาณิชย์รายอื่นของจีนยังออกบัตรติดชิพพร้อมแถบแม่เหล็ก

ธนาคารพาณิชย์ของไทยก็มีการออกบัตรเครดิตติดชิพพร้อมแถบแม่เหล็กทุกใบอยู่แล้ว แต่จะเริ่มนำมาใช้ในประเทศไทยทั้งระบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2016

แนวโน้มในวงการเงินการธนาคารทั่วโลกคือ เทคโนโลยีชิพบันทึกข้อมูลจะเข้ามาใช้คู่ขนานกับแถบแม่เหล็ก และค่อยๆ เข้ามาแทนที่แถบแม่เหล็กในท้ายที่สุด ซึ่งข้อมูลในชิพจะมีความปลอดภัยมากกว่าแถบแม่เหล็กที่ถูกปลอมแปลงข้อมูลได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากยุคแถบแม่เหล็ก ไปสู่ชิพพร้อมแถบแม่เหล็ก และเข้าสู่ยุคบัตรติดชิพ ซึ่งปัจจุบันมีบัตรทุกประเภทใช้งานอย่างแพร่หลาย ในขณะที่ตู้เอทีเอ็มและเครื่องรูดบัตรบางส่วนยังไม่ได้รับการยกระดับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เมื่อนำมาใช้งานคู่กัน จึงพบปัญหาไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินที่ตู้เอทีเอ็มหรือเครื่องรูดบัตรนั้นๆ ได้

ผลกระทบต่อประเทศไทยที่เกิดขึ้นแล้วคือ คนไทยที่ทำงานในจีน ซึ่งนิยมนำเงินกลับไทยโดยนำบัตรเดบิตจีนมากดเงินสดกับตู้เอทีเอ็มในไทย หรือนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย หากใช้บัตรรุ่นใหม่ของ ICBC ที่ติดชิพเพียงอย่างเดียว จะประสบปัญหาไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินกับ         ตู้เอทีเอ็มเพราะเครื่องไม่สามารถอ่านข้อมูลจากชิพบนบัตรได้

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวอันดับต้นของชาวจีน ซึ่งสร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศในแต่ละปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยคงต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบบัตรเดบิตของจีนและปรับตัว เพื่อป้องกันการเสียโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศ

สำหรับนักธุรกิจไทยหรือนักท่องเที่ยวไทยที่กำลังจะเดินทางมาประเทศจีน หากจะสละเวลาเล็กน้อยเพื่อไปขอบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตที่มีสัญลักษณ์ “Union Pay” จากธนาคารพาณิชย์ในไทย ก็จะช่วยให้การเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยของท่านในระหว่างอยู่ในประเทศจีนมีความสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากร้านค้าส่วนใหญ่ในจีนไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านบัตรระบบ Visa หรือ Master Card ได้